Skip to main content

ทำไมคนดัตช์ถึงรักดอกไม้

ผู้เข้าชม 7,513

โดยกฤษฎิ์ธิดาสุจิรา นักการทูตปฏิบัติการ กองวิทยุกระจายเสียง กรมสารนิเทศ

Into the Land of Blooms 

เมื่อเร็วๆ นี้ได้มีโอกาสกลับไปประเทศเนเธอร์แลนด์อีกครั้ง ไปครั้งนี้โชคดีหลายต่อมากๆ หนึ่งคือไปทันช่วงที่ดอกทิวลิปกำลังบานพอดี และสองมีเพื่อนผู้ใจดีชื่อคุณ Adelaide ซึ่งทำงานอยู่ที่เคอเค่นฮอฟ (Keukenhof) มอบบัตรฟรีให้หลายใบเพื่อไปชมสวนดอกไม้ และเมื่อไปถึงก็จะได้รับดัตช์แอปเปิ้ลพายหนึ่งชิ้น ทำให้เราไม่รอช้ารีบจัดสรรเวลาแล้วไปเยือนเคอเค่นฮอฟ หรือสวนดอกไม้ที่โด่งดังของชาวดัตช์ ภาพโปสเตอร์ติดตามบ้านที่เป็นรูปดอกทิวลิปเยอะๆ ส่วนใหญ่ก็จะถ่านจากสวนนี้นั่นเอง ตอนแรกก็หวั่นใจว่าจะได้ดูดอกไม้ไหมนะ เพราะปีนี้ฤดูกาลผิดเพี้ยน ดอกไม้ไม่ค่อยบาน แมมีฝนหลงฤดู แต่ปรากฏว่าวันนั้นช่างโชคดีอีกหนึ่งต่อเพราะพระอาทิตย์ส่องแสงเต็มที่แม้อากาศจะยังเย็นยะเยือกอยู่มาก แต่ก็ไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการเดินชมดอกไม้เลย โชคดีเสียอีกที่ฝนไม่ตก และฟ้าก็ไม่ครึ้ม แถมดอกไม้ก็บานสวยเต็มสวน ไปเห็นสวนมาแล้ว สวยงามมาก อยากเก็บมาเล่าให้ท่านผู้อ่านได้อ่านกัน ก็ต้องขออนุญาตินะคะ

ก่อนอื่นเลย มาทำความรู้จักกับ “เคอเค่นฮอฟ” กันเสียหน่อยนะคะ เคอเค่นฮอฟอย่างที่ได้กล่าวไปแล้วตอนต้นเป็นสวนดอกไม้ที่ใหญ่ที่สุดในโลกค่ะ บางครั้งก็ได้รับการขนานนามว่าเป็นสาวนดอกไม้ของยุโรปเลยทีเดียว ตั้งอยู่ในเขตที่เรียกว่าสันทรายและหัวดอกไม้ (Duin – en Bollenstreek) ในเมืองชื่อลิสเซอ (Lisse) ทางตอนใต้ของเมืองฮาร์เล็ม (Haarlem) ซึ่งเป็นสถานที่ปลูกดอกไม้ส่งออกของเนเธอร์แลนด์ ทุกๆ ปีจะมีการปลูกหัวดอกไม้ในเคอเค่นฮอฟประมาณ ๗ ล้านหัว เป็นทิวลิปกว่า ๑๐๐ สายพันธุ์ ประมาณ ๔.๕ ล้านหัว เคอเค่นฮอฟในหนึ่งปีจะเปิดแค่เดือนกว่าๆ คือช่วงกลางเดือนมีนาคมถึงกลางเดือนพฤษภาคม ดอกไม้ต่างๆ จะผลิบานเต็มที่ช่วงกลางเดือนเมษายน ดอกไม้ที่นำมาจัดแสดงส่วนใหญ่จะเป็นดอกทิวลิปซึ่งได้รับการปลูกไว้เต็มพื้นที่กว่า ๓๒ เฮคเตอร์ (ประมาณ ๑๙๕ ไร่) และก็ยังมีดอกไฮยาซินธ์ซึ่งส่งกลิ่นหอมอบอวนไปทั่วบริเวณ ดอกนาร์ซิซัส ลิลลี่ กลาดิโอลัส ฯลฯ ปีหนึ่งๆ จะมีคนมาเยี่ยมชมประมาณ ๗๕๐,๐๐๐ คน (ต้องขอบอกว่าเคอเค่นฮอฟเปิดแค่ช่วงฤดูใบไม้ผลิเท่านั้น ระยะเวลาในการเปิดเพียงแค่ชั่วโมงเศษๆ ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวที่มาเยี่ยมชมถือว่าเยอะมาก) สวนเคอเค่นฮอฟตั้งอยู่บริเวณที่เคยเป็นสนามล่าสัตว์ และที่ปลูกสมุนไพรของเคาน์เตสฌาคเคอลีนแห่งปราสาทไฮเนาท์ (Jacqueline, Countess of Hainaut’s castle) ชื่อเคอเค่นฮอฟจึงได้มาจากที่นี่นั่นเอง มันหมายถึง “สวนครัว” Keuken – ครัว และ Hof -สวน เพราะแต่เดิมที่แห่งนี้เคยเป็นสถานที่ปลูกผักสมุนไพรป้อนให้ครัวของท่านเคาน์เตส พอเคาน์เตสเสียชีวิต ก็มีพ่อค้าผู้ร่ำรวยมาซื้อปราสาทต่อไป ปราสาทและบริเวณนี้เปลี่ยนมือไปเรื่อยๆ จนกระทั่งช่วงศควรรษที่ ๑๙ บารอนและบารอนเนส ฟาน พอลลานด์ (Van Pallandt) ได้ว่าจ้างสถาปนิกให้มาปรับปรุงภูมิทัศน์บริเวณสวน จนต่อมานายกเทศมนตรีของเมืองลิซเซอได้มีไอเดียบรรเจิดเกิดขึ้นว่าในเมืองเราปลูกดอกไม้เยอะแยะต้องมาหาสถานที่จัดแสดงดอกไม้แล้วละ เกษตรกรดัตช์และจากประเทศอื่นๆ ในยุโรปจะได้นำดอกไม้มาประชันกัน จะได้ช่วยเรื่องการส่งออกดอกไม้ของเราด้วย…จากวันนั้นในปี ค.ศ. ๑๙๔๙ จนถึงปัจจุบันก็เป็นเวลากว่า ๖๐ ปีแล้วที่เคอเค่นฮอฟกลายมาเป็นสถานที่จัดแสดงดอกไม้ที่ใหญที่สุดในโลก

เล่ามาซะยาวเดียวกับประวัติของเคอเค่นฮอฟ แต่ทราบไหมคะ เคอเค่นฮอฟเป็นเพียงแค่ส่วนเดียวของความรักและความผูกพันที่ชาวดัตช์มีต่อดอกไม้ จริงๆ แล้วดอกไม้กลายมาเป็นวัฒนธรรมชองชาวดัตช์เสียแล้ว หากจะดูว่าดอกไม้กับชาวดัตช์มีความผูกพันกันแค่ไหน คงต้องย้อนเวลากลับไปในช่วงศตวรรษที่ ๑๗ แล้วจินตนาการถึงบ้านเล็กๆ แคบๆ ของชาวดัตช์ที่ตั้งเรียงรายอยู่ตามสองฝั่งคลองในเมืองอัมสเตอร์ดัม สงสัยไหมคะว่าทำไมบ้านของชาวดัตช์มันถึงเล็กและแคบนัก เพราะว่าระบบการจัดเก็บภาษีในสมัยก่อนนั้น จะวัดที่ขนาดความกว้างของบ้านค่ะ ยิ่งมีหน้ากว้างเท่าไหร่ก็ยิ่งต้องจ่ายมากขึ้นเท่านั้น ชาวดัตช์เลยนิยมสร้างบ้านหน้าแคบๆ พอให้หมุนตัวได้สะดวกและยาวลึกเข้าไปข้างใน

 เรามาต่อกันดีกว่าค่ะ พอจินตนาการถึงบ้านริมคลองแล้ว ต้องจินตนาการถึงเศรษฐีชาวดัตช์นั่งเล่นอยู่บนเก้าอี้ของเขา แต่สายตาแห่งความสเน่หาของเขาจะจดจ้องไปที่สิ่งๆ หนึ่ง ไม่ใช่ภรรยา ไม่ใช่บุตรสาว หรือสาวๆ แต่เป็นแจกันดอกไม้!!! ไม่ต้องนึกถึงแจกันดอกไม้ทรงกระบอกธรรมดานะคะ แจกันที่ว่านี้มีลักษณะเหมือนเชิงเทียนค่ะ แล้วก็จะใส่ดอกไม้ โดยเฉพาะดอกทิวลิปเอาไว้ค่ะ หลายสี หลายแบบ ศตวรรษที่ ๑๗ นี่ถือเป็นยุคทองแห่งความเฟื่องฟูของดอกไม้เลยก็ว่าได้ เพราะว่าดอกไม้นำมาซึ่งความมั่งคั่งร่ำรวยให้แก่ชาวดัตช์ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ดอกไม้กลายเป็นส่วนหนึ่งในวัฒนธรรมของชาวดัตช์ ถึงขนาดที่ว่า บ้านจะไม่ใช่บ้านที่อาศัยอยู่ได้เลย หากปราศจากดอกไม้สักหนึ่งกำในบ้าน และชาวบ้านจะเคร่งเครียดอยู่กับการทำสวนมาก เพื่อที่ดอกไม้หลากสีจะต้องบ้านเต็มสวนของพวกเขาในฤดูร้อน และฤดูใบไม้ผลิ (คนดัตช์เล่าให้ฟังว่า ถ้าใครเคยเห็นรูปภาพไม่ว่าจะเป็นของแวนโก๊ะ หรือศิลปันดัตช์อื่นๆ หรือเคยไปเนเธอร์แลนด์ จะเห็นได้ด้วยตัวเองว่าท้องฟ้ามันช่างมืดหม่น โดยเฉพาะฤดูหนาวและฤดูใบไม้ร่วง ทำให้ชาวดัตช์ตั้งหน้าตั้งตารอที่จะเห็นดอกไม้ เพราะมันเหมือนชีวิตที่เกิดใหม่ ฤดูใบไม้ผลิกำลังจะมา ความสวยงามกำลังจะเกิดขึ้น อากาศจะดี นำความสดชื่นมาให้ นอกจากนั้น สิ่งที่ได้สัมผัสกับตัวเองและถือว่าเป็นแนวปฏิบัติของชาวดัตช์อย่างหนึ่งเลยก็คือ หากชาวดัตช์จะไปเยี่ยมใครสักคนหนึ่ง สิ่งที่เขาจะต้องถือติดไม้ติดมือไปด้วยคือดอกไม้ ไม่ว่าจะโอกาสใดก็ตาม จะพิเศษ หรือไม่พอเศษ ก็ต้องมีดอกไม้เสมอ หากคุณมีโอกาสได้ไปงานวันเกิดของชาวดัตช์ นอกจากของขวัญที่เขาหรือเธอจะได้รับในวันเกิดแล้ว คุณจะได้เห็นดอกไม้และดอกไม้ เต็มบ้านของพวกเขาไปหมด ไม่ว่าจะเป็นดอกไม้เพื่อตั้งโชว์ หรือดอกไม้ที่แขกผู้มาเยือนถือมาด้วย ต้องเตรียมแจกันไว้ให้เยอะๆ เลยค่ะ ถึงจะพอใส่

เห็นไหมคะ ชาวดัตช์กับดอกไม้นี่ตัดกันไม่ขาดจริงๆ ทุกๆ อย่างหมุนรอบดอกไม้ ยิ่งกับดอกทิวลิปความผูกพันยิ่งลึกซึ้งกว่าดอกไม้อื่นๆ จนกลายมาเป็นสัญลักษณ์ประจำชาติไปแล้ว ชาวโลกต่างพากันจดจำเนเธอร์แลนด์ในฐานะเมืองแห่งดอกทิวลิป กังหันลมและสีส้ม ใครไปเนเธอร์แลนด์ ถ้าไม่ซื้อรองเท้าดัตช์ฝากคนที่บ้าน ก็ต้องซื้อพวงกุญแจ ดอกทิวลิปไม้ หรือแม้กระทั่งดอกทิวลิปกลับไปฝากคนที่บ้าน นักธุรกิจหัวใสก็นำเอาชื่อ “ทิวลิป” ไปตั้งเป็นชื่อคอมพิวเตอร์บ้าง โรงแรมบ้าง แม้กระทั่งนักฟุตบอลดัตช์ชื่อดัง เช่น Ruud Gullit, Marco van Bastenและ Frank Rijkaardที่ไปเล่นให้เอซี มิลาน ก็ยังถูกตั้งชื่อเล่นให้ว่า Tulipani (Tulipaniเป็นภาษาอิตาเลียนแปลว่า ทิวลิป)

อย่างที่เล่าไปแล้วค่ะ คนส่วนใหญ่เมื่อคิดถึงเนเธอร์แลนด์ก็จะคิดถึงดอกทิวลิป หรือเมื่อคิดถึงดอกทิวลิปก็จะคิดถึงเนเธอร์แลนด์ แต่จะมีสักกี่คนที่รู้ว่าจริงๆ แล้ว ดอกทิวลิปนั้นไม่ได้มีต้นกำเนิดมาจากเนเธอร์แลนด์เลย หากแต่มีต้นกำเนิดมาจากเอเชียกลางและแถบตุรกี และถูกนำเข้ามาในเนเธอร์แลนด์ในช่วงศตวรรษที่ ๑๖ จากจักรวรรดิออตโตมัน ซึ่งก็คือประเทศตุรกีในปัจจุบัน คำว่าทิวลิปก็มาจากคำว่า Tulbendซึ่งมีรากศัพท์มาจากภาษาเปอร์เซียที่แปลว่า ผ้าโพกหัว ซึ่งดูแล้วก็คงจะเหมือนรูปทรงของดอกทิวลิป เลยตั้งชื่อตามกัน จะมีต้นกำเนิดจากที่ไหน ชาวดัตช์ก็หาได้สนใจกับประเด็นนี้ไม่ เพราะว่าวัฒนธรรมการปลูกดอกไม้และเก็บเกี่ยวดอกไม้มันหยั่งรากลึกเข้าไปในสายเลือดของพวกเขามากกว่าจะสนใจว่าดอกทิวลิปไม่ได้มีต้นกำเนิดมาจากเนเธอร์แลนด์

ในสมัยก่อน ดอกทิวลิปนี้เองกลายเป็นสัญลักษณ์ของชนชั้น และการค้าขายเก็งกำไร หรือถ้าผู้เขียนจะเรียกเอง ก็จะเรียกว่า ฟองสบู่ทิวลิป ทำไมตั้งชื่อให้แบบนี้ มันมีเหตุผลค่ะ เพราะช่วงนั้น พ่อค้า ชนชั้นกลาง ชนชั้นสูง ต่างแข่งกันหาหัวดอกทิวลิปมาครอบครอง ยิ่งสีแปลกประหลาดแปลกตามากแค่ไหน ยิ่งดี ยิ่งแพง สมัยนั้นเป็นยุคทองของชาวดัตช์ทีเดียวค่ะ ค้าขายเก็งกำไรดอกทิวลิปกันรุ่งเรืองทีเดียว แค่หัวทิวลิปหัวเดียวที่มีสีและรูปดอกแปลกๆ หาได้ยาก มีค่าเท่ากับบ้านชั้นดีริมคลองในอัมสเตอร์ดัม แรงงานที่มีฝีมือต้องทำงานถึง ๑๐ ปี จึงจะสามารถมีเงินซื้อหัวดอกไม้ได้หัวหนึ่ง ซึ่งต่อมาในช่วงปี ค.ศ. ๑๖๓๗ มันก็นำมาซึ่งโศกนาฏกรรมที่ทำให้หลายๆ ครอบครัวต้องล้มละลาย ศิลปินผู้โด่งดัง อาจารย์ผู้มีชื่อเสียง ต้องจบชีวิตลงแบบยากจนข้นแค้นกันเลยทีเดียว เพราะการเก็งกำไร แต่โศกนาฏกรรมเช่นนั้น ตอนนี้ก็ได้จบลงแล้ว เพราะทุกวันนี้ ในเนเธอร์แลนด์ ทุกๆ คนสามารถซื้อดอกไม้ทุกดอกได้ในราคาที่ไม่แพง ทุกวันนี้ ชาวดัตช์ทุกคนไม่ว่าจะรวยหรือจนสามารถจับจ่ายซื้อดอกไม้ได้ตามร้านดอกไม้ขนาดเล็กใหญ่ซึ่งกระจายตัวอยู่ทั่วทุกมุมเมืองค่ะ แค่นั้นยังไม่พอ ยังมีตลาดดอกไม้ขนาดยักษ์ที่ตั้งอยู่ดาษดื่นตามแนวริมคลองในอัมสเตอร์ดัม และในเมืองอูเทร็ค (Utrecht) ด้วย

ในปัจจุบันนี้ เหตุการณ์เก็งกำไรดอกไม้ได้จบไปแล้ว ชาวดัตช์หันมาปลูกดอกไม้เพื่อจำหน่ายทั้งในประเทศและส่งออกกันอย่างขยันขันแข็ง การปลูกดอกไม้และผลิตหัวดอกไม้เมืองหนาวกลายมาเป็นศิลปะแขนงหนึ่ง ดอกไม้จากเนเธอร์แลนด์ได้รับการยอมรับถึงคุณภาพที่ดีและมีขายทั่วโลก ดอกไม้ส่วนใหญ่มักถูกนำเข้าจากเมืองเล็กๆ ของประเทศเนเธอร์แลนด์ที่ทอดตัวขนาดไปกับทะเลเหนือ (North Sea) พื้นที่ผลิตหัวดอกไม้และดอกไม้ที่สำคัญที่สุดของเนเธอร์แลนด์ คือพื้นที่ทางตอนเหนือของเมือง อัลคมาร์ (Alkmaar) และพื้นที่ทางตอนใต้ของเมืองฮาร์เล็ม (Haarlem) ดอกไม้เหล่านี้นำรายได้เข้าประเทศให้แก่เกษตรกรชาวดัตช์หลายหมื่นคนกว่าปีละประมาณ ๕ พันล้านยูโรเมืองฮาร์เล็มนี้ยังมีเทศกาลพิเศษคือเทศกาลBloemencorsoงานนี้ก็จะคล้ายๆ กับขบวนแห่คาร์นิวัลนั่นเอง แต่ที่พิเศษคือ ทั้งขบวนแห่จะมีแต่ดอกไม้ แล้วจะแห่จากเมืองฮาร์เล็มไปยังเมืองนอร์ดไวค์ (Noordwijk) เชื่อไหมคะว่าสำหรับขบวนแห่ในแต่ละปี มีการใช้ดอกไฮยาซินธ์อย่างเดียวก็เกือบ ๑.๕ ล้านดอกแล้วค่ะ

แน่นอนว่าทุกการค้าย่อมมีตลาดกลาง หรือศูนย์กลางการค้าสำหรับตลาดดอกไม้ก็เช่นกัน สถานที่ประมูลดอกไม้ที่ใหญ่ที่สุดในโลกก็อยู่ที่เนเธอร์แลนด์เช่นกัน ที่ประมูลดอกไม้นี้ตั้งอยู่ในเมืองเล็กๆ ที่ชื่อว่าอัลส์เมียร์ (Aalsmeer) ทุกๆ วันจะมีเกษตรกรผู้ปลูกดอกไม้ประมาณ ๗ พันคนมาขายดอกไม้ประมาณ ๑๙ ล้านดอกและต้นไม้อีกราวๆ ๒ ล้านต้นที่นี่ซึ่งประมาณร้อยละ ๘๐ ของดอกไม้ต้นไม้ทั้งหมดจะถูกส่งออกไปยังประเทศต่างๆทั่วโลก

เกร็ดน่ารู้:

เมื่อวันที่ ๒๐ สิงหาคม ๒๕๕๒ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อดอกทิวลิป “King Bhumibol” ซึ่งนายกลาส คูไดค์ เกษตรกรชาวดัตช์ เจ้าของบริษัท FA.P. Koeddiik & Zn ได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต ให้กับดอกทิวลิปสายพันธุ์ใหม่ ดอกทิวลิป “King Bhumibol” มีสีเหลืองนวลทั้งดอก ความสูงของดอกและก้านรวม ๔๕ เซนติเมตร ได้รับการพัฒนาสายพันธุ์จากดอกทิวลิป Prince Claus ที่มีต้นกำเนิดมาจากดอกทิวลิปสายพันธุ์ Judith Leyster ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่ดีมากสายพันธุ์หนึ่งของเนเธอร์แลนด์

และได้รับพระราชทานชื่อจาก Prince Claus พระราชสวามีในสมเด็จพระราชินีนาถเบียทริกซ์แห่งเนเธอร์แลนด์ นายคูไดค์ได้รับแรงบรรดาลใจในการขอพระราชทานพระบรมราชานุญาติตั้งชื่อ ดอกทิวลิป “King Bhumibol” มาจากความประทับใจในความจงรักภักดีของประชนชาวไทยทั่วประเทศในช่วงการจัดงานเฉลิมฉลองในโอกาสมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี

อ้างอิง:

ภาพจาก :

ท่องโลกกว้าง

ทำเนียบขาว

นักท่องเที่ยวแทบทุกคนที่ไปเยือนกรุงวอชิงตัน เมืองหลวงของประเทศสหรัฐอเมริกา มักจะต้องแวะไปชมคฤหาสน์สีขาวหลังหนึ่งซึ่งมีชื่อว่า “ทำเนียบขาว” (The White House) ตั้งอยู่เลขที่ ๑๖๐๐ ถนน เพ็นซิลเวเนีย

เที่ยวท่องล่องช่องแคบตุรกี (Türkiye Straits)

เป็นแนวทางน้ำธรรมชาติที่แบ่งกั้นคาบสมุทอนาโตเลียผืนแผ่นดินใหญ่ของตุรกีที่อยู่ในทวีปเอเซีย ออกจากดินแดนของตุรกีที่อยู่ในฝั่งยุโรป เชื่อมต่อทะเลดำทางทิศเหนือและทะเลเอเจียนทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ประกอบด้วย ช่องแคบบอสฟอรัส ทะเลมาร์มาร่า (ตรงกลาง) และช่องแคบดาร์ดะแนลส์

keyboard_arrow_up