Skip to main content

เส้นทาง 15 ปี ยุวทูตความดี

ช่วงที่ 1 พ.ศ. 2542 – 2550 วางรากฐาน สานความร่วมมือ ขับเคลื่อนโครงการสู่เป้าหมาย

2542

กระทรวงการต่างประเทศ ริเริ่ม “โครงการยุวทูตความดี เฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” เพื่อทูลเกล้าฯ ถวายเนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงมีพระชนมายุครบ 6 รอบ 72 พรรษา เมื่อ พ.ศ. 2542 โดยความร่วมมือของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาประถมแห่งชาติ (สปช.) กระทรวงศึกษาธิการ คัดเลือกโรงเรียน 76 โรงเรียน ใน 76 จังหวัด เป็นโรงเรียนนำร่อง มีการจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการระหว่างโรงเรียนนำร่อง กับ สปช. และกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อวางแผนเริ่มทดลองการดำเนินโครงการของทุกโรงเรียนโดยพร้อมเพรียงกัน

2543

โรงเรียนนำร่อง ใน 76 จังหวัด เริ่มปฏิบัติการจริง โดยประสานโครงการเข้ามาร่วมกับโครงการยุวทูตความดี เฉลิมพระเกียรติฯ ที่รณรงค์ให้นักเรียนทุกคนในโรงเรียนทำความดี และทำถวายในหลวงรัชกาลที่ 9

2544

เมื่อวันที่ 16 มกราคม โครงการยุวทูตความดี เฉลิมพระเกียรติฯ ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี ให้เป็น โครงการต้นแบบของการ “พัฒนาทรัพยากรมนุษย์” มีเป้าหมายเพื่อปลูกฝังและพัฒนาเยาวชนให้มีความรู้ คู่คุณธรรม มีภูมิคุ้มกันทางจิตใจ และมีวิสัยทัศน์กว้างไกล จำนวนโรงเรียนในเครือข่ายยุวทูตความดี เพิ่มจาก 76 แห่ง เป็นโรงเรียนขยายผลรุ่นที่ 1 จำนวน 1,520 โรงเรียน

2545

โครงการและกิจกรรมส่งเสริมการทำความดีของโครงการยุวทูตความดีเฉลิมพระเกียรติฯ เป็นที่ชื่นชมอย่างกว้างขวาง ส่งผลให้มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในเด็กไปในทางที่ดี ทำให้มีโรงเรียนประสงค์ขอเข้าร่วมเพิ่มมากขึ้น จึงมี โรงเรียนขยายผลรุ่นที่ 2 จำนวน 975 โรงเรียน

2547

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ทรงรับโครงการยุวทูตความดี เฉลิมพระเกียรติฯ ไว้ในพระราชูปถัมภ์ เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2547 กระทรวงการต่างประเทศได้มีการดำเนินการโครงการยุวทูตความดีเฉลิมพระเกียรติฯ อย่างต่อเนื่องเรื่อยมาจัดทำ กิจกรรมบันทึกความดี เชิญชวนเยาวชนส่งเขียนหรือข้อคิดเห็น และประสบการณ์ในหัวข้อเรื่อง “ข้าพเจ้าอยากทำอะไรให้แผ่นดิน” ซึ่งเป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นเพื่อร่วมเทิดพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง

2549

โครงการยุวทูตความดีฯ ขยายเครือข่ายกิจกรรม จากเยาวชนระดับประถมสู่เยาวชนระดับมัธยม ใน โครงการ“เยาวชนนั้นไซร้ คือพลังของแผ่นดิน” โดยได้เชิญโรงเรียนจำนวน 21 โรงเรียน จากจังหวัดลพบุรี อุทัยธานี อุบลราชธานี และชุมพรเข้าร่วม

2550

โครงการยุวทูตความดี เฉลิมพระเกียรติฯ ได้ทำการจดทะเบียนเป็น “มูลนิธิยุวทูตความดี” เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2550 มูลนิธิยุวทูตความดี เป็นองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร ดำเนินการโดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจากกระทรวงการต่างประเทศ สำนักงาน ตั้งอยู่ที่กระทรวงการต่างประเทศด้วยจุดมุ่งหมายสานต่อ งานของโครงการฯ ให้มีความต่อเนื่องและยั่งยืน

ช่วงที่ 2 พ.ศ. 2551 – 2556 วางแผนโครงการ ขยายการมีส่วนร่วม มุ่งสร้างสรรค์เพื่อพลังแผ่นดิน

2552

สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงวอชิงตัน ร่วมกับมูลนิธิยุวทูตความดี ดำเนินโครงการโรงเรียนพี่ – โรงเรียนน้อง ระหว่างประเทศไทยและสหรัฐอเมริกา (Thai – American Sister School Program) โดยจับคู่โรงเรียนระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาตอนต้นของทั้งสองประเทศมาทำกิจกรรมร่วมกันโดยผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งใช้เป็นเครื่องมือในการติดต่อสื่อสารระหว่างกัน

2553

มูลนิธิยุวทูตความดีได้เริ่มดำเนิน โครงการเหย้า – เยือน เพื่อพลังแผ่นดิน เพื่อเชื่อมประสานความรู้รักสามัคคีระหว่างเยาวชนต่างภูมิภาค โดยมุ่งส่งเสริมการแลกเปลี่ยนประสบการณ์การเรียนรู้จากอัตลักษณ์ของความแตกต่างในเชิงกายภาพประวัติศาสตร์ความเป็นมา วัฒนธรรมพื้นถิ่น และวิถีชุมชน โดยเริ่มจาก 2 คู่จังหวัด คือ จังหวัดตาก – เชียงใหม่ และ จังหวัดชุมพร – สมุทรสงคราม

2554

ริเริ่มโครงการ “ยุวทูตความดี เพื่อพลังแผ่นดิน โดยน้อมนำคุณธรรม “รู้รักสามัคคี” ของในหลวงรัชกาลที่ 9 มาเป็นหัวใจในการดำเนินโครงการฯ โดยได้มีการเชิญชวนให้โรงเรียนในเครือข่ายฯ เข้าร่วมด้วยการรณรงค์ให้เยาวชนร่วมกันเขียนปณิธาน และกำหนดแนวทางปฏิบัติตนตามปณิธาน และได้ทำการคัดเลือกปณิธานดีเด่น จำนวน 84 โรงเรียนจากทุกจังหวัด โดยมูลนิธิยุวทูตความดี ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ จัดการสัมมนาครูจากโรงเรียนที่ได้รับการคัดเลือกจากการประกวดผลงาน “ปณิธานยุวทูตความดี เพื่อพลังแผ่นดิน” จำนวน 84 โรงเรียน ที่จังหวัดสมุทรสงคราม

2555

มูลนิธิฯ ขยายการดำเนินโครงการ เหย้า – เยือน เพื่อพลังแผ่นดิน ไปอีก 3 คู่จังหวัด ได้แก่ จังหวัดระยอง – สุราษฎร์ธานี จังหวัดนครพนม – สมุทรสาคร และจังหวัดจันทบุรี – สุโขทัย

กิจกรรม “ภาคียุวทูตความดี โรงเรียนพี่ – โรงเรียนน้อง” ผนึกพลังสามัคคีระหว่างโรงเรียน 84 โรงเรียน และคัดเลือกโรงเรียน จำนวน 6 โรงเรียน ให้เป็น “ยุวทูตความดี ดาวเด่น” มาทำกิจกรรม เพื่อคัดเลือกตัวแทนจากแต่ละโรงเรียน รวมจำนวน 6 คน ให้ไปเยือนสาธารณรัฐสิงคโปร์ ซึ่งนับเป็นการเริ่มต้นของโครงการพัฒนาโลกทัศน์ ที่มีการเชื่อมสัมพันธไมตรีด้วยการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างยุวทูตความดีกับเยาวชนประเทศเพื่อนบ้าน

การฟื้นฟูโครงการผู้อุปถัมภ์ กับสถานเอกอัครราชทูตต่างประเทศประจำประเทศไทยและโรงเรียนในเครือข่ายมูลนิธิยุวทูตความดี โดยมูลนิธิฯ ร่วมมือกับชมรมคู่สมรสข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศ (Spouses of officials of the Ministry of Foreign Affairs: ASOMFA) สานต่อโครงการส่งเสริมให้สถานเอกอัครราชทูตต่างประเทศประจำประเทศไทย รับเป็น “ผู้อุปถัมภ์” เช่น สถานเอกอัครราชทูตเคนยากับโรงเรียนธัญญสิทธิศิลป์ จังหวัดปทุมธานี ดังเช่นที่ สถานเอกอัครราชทูตบราซิล และสถานเอกอัครราชทูตชิลี ที่ยังคงการเยี่ยมเยือนอย่างต่อเนื่องกับโรงเรียนสฤษดิเดช จังหวัดจันทบุรี และโรงเรียนบ้านในเหมือง จังหวัดชุมพร

2556

มูลนิธิฯ จัดการประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการ โครงการ “เยาวชนคนดี รู้คุณแผ่นดิน” เพื่อบรูณาการความร่วมมือผู้บริหารโรงเรียนและครู จำนวน 150 คน จาก 75 โรงเรียนใน 75 จังหวัด ในการขับเคลื่อนการปลูกจิตสำนึก ฝึกจิตอาสา ผ่านกระบวนการเรียนรู้จากโครงการที่โรงเรียนหลัก ในแต่ละจังหวัดดำเนินอยู่ และกำหนดให้ขยายความร่วมมือไปยังโรงเรียนภาคีในพื้นที่ โดยวางแผนการดำเนินงานอย่างมีทิศทางและเป้าหมายร่วมกัน

การจัดค่ายอบรม ส่งเสริมให้เยาวชนคนดี รู้คุณแผ่นดิน โดยมูลนิธิยุวทูตความดี ร่วมมือกับสถาบันสงฆ์ วิสาหกิจ และหน่วยงานภาครัฐ ค่ายอบรมที่จัดนั้นครอบคลุมด้านต่าง ๆ ดังนี้

  1. ค่ายอบรม ธรรมะ คือแสงสว่างแห่งปัญญา ร่วมกับสถาบันวิมุตตยาลัย
  2. ค่ายอบรม รักษ์โลก – รักแผ่นดิน ร่วมกับบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)
  3. ค่ายอบรม สามัคคี ฉลาดรู้ เสริมสร้างสันติสุข ร่วมกับศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.)
  4. ค่ายอบรม ทรัพย์ในดิน กับวิถีเกษตรไทย ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ
  5. ค่ายอบรม รักษ์โลก – รักแผ่นดิน รุ่นที่ 1/2556 ร่วมกับมูลนิธิอุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธร (มอนส.)

การจัดโครงการพัฒนาโลกทัศน์ สานสัมพันธ์สร้างมิตรไมตรีกับเยาวชนในต่างประเทศ มูลนิธิฯ นำคณะยุวทูตความดีไปเยือนสหพันธรัฐมาเลเซีย สาธารณรัฐอินโดนีเซีย สาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกา และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

การจัดโครงการต่อยอดการพัฒนาโลกทัศน์ มูลนิธิยุวทูตความดีร่วมมือกับเอกอัครราชทูต ณ กรุงจาการ์ตา จัดคณะยุวทูตความดีเยือนสาธารณรัฐอินโดนีเซีย รุ่นที่ 1 นับเป็นความริเริ่มของโครงการ สถานเอกอัครราชทูต สถานกงสุลใหญ่อุปถัมภ์ที่ขยายโอกาสและสร้างเสริมประสบการณ์เรียนรู้ให้กับยุวทูตความดี

การจัดโครงการเหย้า – เยือน เพื่อพลังแผ่นดิน เพื่อสร้างเสริมพลังของการรู้รักสามัคคีในหมู่เยาวชนยุวทูตฯ อย่างต่อเนื่อง โดยขยายไปสู่โรงเรียนใน 5 คู่จังหวัด ประจวบคีรีขันธ์ – ชัยภูมิ สุพรรณบุรี – นครศรีธรรมราช เลย – ชลบุรี สุรินทร์ – น่าน และกระบี่ – ขอนแก่น

การเตรียมความพร้อมให้เยาวชนก้าวสู่ประชาคมอาเซียน มูลนิธิฯ ร่วมมือกับสำนักคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จัดการแข่งขันตอบปัญหาอาเซียนในงานศิลปหัตถกรรมนักเรียนระดับชาติ ครั้งที่ 62

การจัดโครงการอบรมภาษาอังกฤษให้กับครูสอนภาษาอังกฤษ ของโรงเรียนเครือข่ายยุวทูตฯ โดยมูลนิธิฯ ร่วมมือกับสถาบันการต่างประเทศเทวะวงศ์วโรปการกระทรวงการต่างประเทศ

keyboard_arrow_up