Skip to main content

การสัมมนาเชิงปฏิบัติการโครงการเยาวชนคนดี รู้หน้าที่ รู้คุณแผ่นดิน ปี 2566

20 - 23 ธันวาคม 2566
ผู้เข้าชม 196

 มูลนิธิยุวทูตความดี กระทรวงการต่างประเทศ จัดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ “โครงการเยาวชนคนดี รู้หน้าที่ รู้คุณแผ่นดิน ปี 2566” ระหว่างวันที่ 20 – 23 ธันวาคม 2566 ที่โรงแรมรามาการ์เด้นส์ โดยมี ผู้อำนวยการโรงเรียนและครูผู้รับผิดชอบโครงการฯ ทั้งสิ้น 142 คน จาก 72 จังหวัด เข้าร่วม โดยมีทั้ง โรงเรียนเล็ก (ขนาดนักเรียน 137 คน) ถึง โรงเรียนใหญ่ (ขนาดนักเรียน 4,110 คน) รวมมีนักเรียนในความกำกับดูแลจำนวน 112,587 คน 

 การสัมมนาฯ มีจุดมุ่งหมายเพื่อบูรณาการความร่วมมือกับผู้บริหารและครูโรงเรียนในเครือข่ายมูลนิธิฯ ในการขับเคลื่อนโครงการเสริมสร้างยุวทูตความดี ก้าวสู่สังคมการเรียนรู้ในรูปแบบใหม่อย่างสร้างสรรค์ ให้เยาวชนมีบทบาท เชิงสร้างสรรค์ ในการมีส่วนร่วมนำการพัฒนาอย่างยั่งยืนแก่ชุมชน สังคม และประเทศชาติ การสัมมนาฯ จึงเป็นโอกาสให้คณะผู้บริหาร คณะครู ได้แลกเปลี่ยนแนวคิดและแนวปฏิบัติในการดำเนินโครงการฯ อย่างสร้างสรรค์และบรรลุผล 

ในการนี้ นายดอน ปรมัตถ์วินัย ประธานก่อตั้งยุวทูตความดี เป็นกล่าวความเป็นมาของโครงการยุวทูตความดี เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2566 ความว่า  โครงการยุวทูตความดี เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวริเริ่ม เมื่อปี 2542 เพื่อทูลเกล้าฯ ถวายเป็นราชสักการะในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงมีพระชนมายุ 72 พรรษา ซึ่งเป็นความร่วมมือของกระทรวงการต่างประเทศ และสำนักงานคณะกรรมการประถมศึกษาแห่งชาติ (สปช.)กระทรวงศึกษาธิการ ด้วยความตระหนักในพระราชกรณียกิจเรื่องการ สร้างคน เพื่อพัฒนาประเทศ โดยเริ่มที่เยาวชนในระดับประถมศึกษา เนื่องจากเป็นวัยตั้งต้นของชีวิตที่มีจิตสดใส เหมาะสมจะเรียนรู้ ปลูกฝังวินัย ให้มีความรับผิดชอบ รู้จักพึ่งตนเอง รู้จักการอยู่ร่วมกับผู้อื่นอย่างรู้รักสามัคคี เพื่อเป็นรากฐาน ของการดำเนินชีวิตอย่างมั่นคงและยั่งยืน” 

คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา ผู้ร่วมก่อตั้งยุวทูตความดีและกรรมการบริหารมูลนิธิยุวทูตความดี เป็นประธานกล่าวเปิดโครงการฯ ในวันที่ 21 ธันวาคม 2566 “โครงการยุวทูตความดี นับเป็นโครงการที่สร้างประวัติศาสตร์ทางการศึกษา ที่สามารถหลอมรวมน้ำใจของชาวการศึกษา ซึ่งก็ไม่ง่ายนักที่ให้ร่วมกันทำงาน และ  หากมองย้อนหลังก็ถือเป็นการสร้างนวัตกรรมที่ยิ่งใหญ่ที่สุด เป็นหนึ่งในน้อยโครงการมากที่เริ่มเมื่อ 20 กว่าปี แล้วยังดำรงต่อและเติบโตอย่างถาวร การสัมมนาฯ ในครั้งนี้ เป็นสิ่งที่มีประโยชน์ เป็นภาพสะท้อนของความมุ่งมั่นตั้งใจของมูลนิธิฯ ที่อยากจะให้โครงการนี้มอบสิ่งที่ดีที่สุดให้แก่โรงเรียน เพื่อให้นำความรู้ที่ได้รับไปพัฒนาต่อยอดให้โรงเรียนดีขึ้น หวังว่าสิ่งดี ๆ เหล่านี้จะไปถึงเด็กนักเรียนและครอบครัว และเชื่อว่าหากผู้บริหารโรงเรียนและครู นำสิ่งที่ได้จากโครงการยุวทูตฯ ไปใช้ในชีวิตประจำวัน ท่านจะประสบความสำเร็จเพราะที่นี่ถือว่าเป็นสุดยอดของมหาวิทยาลัยแห่งการเรียนรู้ของผู้บริหารระดับสูง และเป็นครูชั้นยอด และขอชื่นชมกระทรวงการต่างประเทศที่ร่วมกันสนับสนุนงานของมูลนิธิฯ ในทุกระดับ ทุกกรม/กอง และแม้จะอยู่ตำแหน่งไหนใหญ่โต หรือเกษียณอายุราชการ ก็ยังกลับมาสนับสนุนงานของมูลนิธิฯ ซึ่งไม่เคยเห็นปรากฎการณ์เช่นนี้ที่อื่น”

รองปลัดบุษฎี สันติพิทักษ์ ได้กล่าวถึง บทบาทของกระทรวงการต่างประเทศในการพัฒนาเยาวชนไทยให้ก้าวสู่สากล  กระทรวงฯ ดำเนินงานตามกรอบยุทธศาสตร์ชาติ ในการพัฒนาการศึกษา โดยส่งเสริมให้เยาวชนได้รับโอกาสที่กว้างไกลในการไปพัฒนาโลกทัศน์ในต่างประเทศ เพื่อให้มีมาตรฐานในระดับสากล มีเกียรติภูมิและมีพลัง และยังช่วยส่งเสริมสนับสนุนการปลูกฝังเยาวชนให้เป็นคนดี คนเก่ง อย่างมั่นคง ผ่านการสนับสนุนงานของมูลนิธิยุวทูตความดี 

รองปลัดณัฐพล ขันธหิรัญ เป็นผู้กล่าวปิดการสัมมนาในหัวเรื่อง ข้อคิด ข้อควรปฏิบัติในการรวมพลังนำพาเยาวชนไทยให้เป็นคนดี รู้รักแผ่นดิน โดยขอให้โรงเรียนได้มีดำเนินโครงการในการพัฒนาเยาวชนคนดีมีจิตสำนึกจิตอาสาต่อส่วนรวมพัฒนาโลกทัศน์ให้กว้างไกลอยู่ท่ามกลางสังคมที่แตกต่างได้อย่างปรองดองรู้รักสามัคคีให้รู้คุณของแผ่นดินถิ่นเกิดนำสู่การพัฒนาชาติอย่างยั่งยืนก้าวไปในอนาคต

ผอ.มูลนิธิยุวทูตความดี กล่าวรายงานถึง เส้นทางการสร้างเยาวชนให้เป็นคนดี มีคุณภาพ ที่ก้าวอย่างมั่นคง    สู่การก้าวอย่างยั่งยืน โดยมีจุดมุ่งหมาย เพื่อบูรณาการการขับเคลื่อนโครงการและกิจกรรมของมูลนิธิยุวทูตฯ ไปสู่ทิศทางเดียวกัน ให้ผู้บริหารและคุณครูโรงเรียนในเครือข่ายได้มีส่วนร่วมแบ่งปัน แลกเปลี่ยนประสบการณ์ และสร้างองค์ความรู้ร่วมกันเกี่ยวกับแนวทางการวางแผนสร้างเยาวชนให้เป็นเยาวชนคนดี รู้หน้าที่ รู้รักแผ่นดิน ให้ก้าวสู่สังคมการเรียนรู้ในรูปแบบใหม่ที่สร้างสรรค์ ซึ่งจะเป็นมิติใหม่แห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต นำประโยชน์มุ่งสู่เยาวชนเป็นสำคัญ    โดยการสร้างโอกาสให้กับเยาวชนอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม 

การสัมมนาครั้งนี้ ประกอบด้วย การบรรยายพิเศษ โดยผู้ทรงคุณวุฒิและผู้เชี่ยวชาญ ครอบคลุมหัวข้อที่หลากหลาย ที่มุ่งส่งเสริมและสร้างสรรค์การเรียนรู้ในมิติใหม่ เสริมสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับงานของกระทรวงการต่างประเทศ  เพื่อให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาฯ ได้นำผลการเรียนรู้ไปต่อยอดขยายผลให้ต่อเนื่องและยั่งยืน โดยยังประโยชน์สูงสุดในการพัฒนาเสริมสร้างเยาวชนของชาติให้เป็นคนดี มีคุณภาพ และมีขีดความสามารถในการแข่งขันที่ทัดเทียมกับเยาวชนนานาชาติ อาทิ

มิติการสร้างเยาวชนให้เป็นคนดี 

แนวทางด้านการศึกษาและการพัฒนาเยาวชน ตามพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี  โดย ศ.ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์ เลขาธิการมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

ยุวทูตความดี : นวัตกรรมสร้างสังคมความดีให้แก่โลก โดย คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา

ทิศทางการดำเนินโครงการสร้างคนดี รู้หน้าที่ รู้รักแผ่นดิน ปี 2567 โดยผอ.จันทร์ทิพา ภู่ตระกูล ผู้อำนวยการมูลนิธิยุวทูตความดี

การเสวนา ทุกคำตอบจากประสบการณ์ตรงในการเข้าร่วมโครงการและกิจกรรมสร้างเยาวชนคนดี  นำโดย ผอ.ไพศาล ว่องภานุสกุล โรงเรียนอนุบาลยะลา  ผอ.เมตตา ศรีเกื้อกลิ่น โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ  ผอ.บุศรินทร์ สิริปัญญาธร โรงเรียนอนุบาลราชบุรี  ผอ.พีรานุช ไชยพิเดช โรงเรียนพญาไท  และครูวีระยา ศิริรัชฎานันท์ โรงเรียนอนุบาลศรีสะเกษ

ศิลปะกับการพัฒนาจิตใจเยาวชน  โดย อาจารย์อำมฤทธิ์ ชูสุวรรณ ศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์

มิติการต่างประเทศ 

การเสวนา บทบาทของเอกอัครราชทูตในการเชื่อมโยงสายสัมพันธ์ระหว่างยุวทูตฯ กับเยาวชนนานาชาติ  นำโดย ดร.สุนทร ชัยยินดีภูมิ อดีตรองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ นายชุตินทร คงศักดิ์ อดีตเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์ นายวศิน เรืองประทีปแสง อดีตเอกอัครราชทูต ณ กรุงมะนิลา และนายทวีเกียรติ    เจนประจักษ์ อดีตผู้อำนวยการใหญ่สำนักงานการค้าและเศรษฐกิจไทย (ไทเป)

การเสวนา กระทรวงการต่างประเทศกับการพัฒนาบทบาทของเยาวชนไทย โดย นางกาญจนา ภัทรโชค อธิบดีกรมสารนิเทศ นายอสิ  ม้ามณี อธิบดีกรมยุโรป นายฉัตรชัย  วิริยะเวชกุล อธิบดีกรมเอเชียตะวันออก และนายเชษฐพันธ์ มากสัมพันธ์ อธิบดีกรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้

รู้เท่า รู้ทัน ในการเดินทางไปต่างประเทศ โดย นายณรงค์ บุญเสถียรวงศ์  รองอธิบดีกรมการกงสุล 

รู้คิด รู้ควร วัฒนธรรมอาหารที่เชื่อมโยงมนุษยชาติ  โดย นายพงศธร ผู้อำนวยการกองรับรอง กรมพิธีการทูต และ อาจารย์มนชัย พัชนี

มิตินวัตกรรมโลกดิจิทัล 

พลังความรู้ นำเยาวชนไทย ก้าวล้ำสู่โลกดิจิทัล โดย อาจารย์สรรชัย หนองตรุด 

ผู้บริหารการศึกษากับเยาวชนยุคดิจิทัล  โดย ดร.ศรีดา ตันทะอธิพานิช

ภาวะผู้นำ กับมิติใหม่แห่งการเรียนรู้ เพื่อพัฒนาเยาวชนคนดี สู่อนาคต โดย ดร.รัฐ ธนาดิเรก

ในการแบ่งกลุ่มศึกษา เพื่อวางแผนโครงการและกิจกรรมที่จะนำไปปฏิบัติ ในการสร้างเยาวชนคนดี รู้หน้าที่ รู้รักแผ่นดิน ได้จัดแบ่งเป็นกลุ่มปฏิบัติ (workshop) 6 กลุ่ม โดยมีโรงเรียน 72 โรงเรียน ใน 69 จังหวัด เข้าร่วมในลักษณะ 1 โรงเรียน 1 จังหวัด 1 โครงการ ตามกลุ่มดังนี้

กลุ่มโครงการที่ 1  สร้างสรรค์วิชาชีพ หล่อเลี้ยงชีวิต ด้วยวิถีพอเพียง

โรงเรียนเข้าร่วม 14 โรงเรียน 

กลุ่มโครงการที่ 2  รู้คุณค่า รักษาสิ่งแวดล้อม ช่วยพัฒนาสังคมให้มีความยั่งยืน 

โรงเรียนเข้าร่วม 15 โรงเรียน 

กลุ่มโครงการที่ 3  สร้างสำนึกให้รู้คิด น้อมจิตให้รู้ธรรม นำการปฏิบัติให้รู้คุณ

โรงเรียนเข้าร่วม 15 โรงเรียน  

กลุ่มโครงการที่ 4  พารู้ พารัก รากเหง้าแผ่นดินไทย ภาคภูมิใจในพงศ์เผ่าภูมิปัญญา

โรงเรียนเข้าร่วม 14 โรงเรียน 

กลุ่มโครงการที่ 5  นำศักยภาพเชิงสร้างสรรค์ นวัตกรรมเชิงปฏิบัติ สรรค์สร้างประโยชน์สู่สังคม

โรงเรียนเข้าร่วม 14 โรงเรียน 

กลุ่มโครงการที่ 6  ปรับทิศทางการเรียนรู้ เสริมสร้างปัญญา ผ่านสื่อออนไลน์

โรงเรียนเข้าร่วม 30 โรงเรียน

ทั้งนี้ โรงเรียนที่ดำเนินโครงการข้างต้น จะทำกิจกรรมเสริมสร้างเยาวชนคนดี รู้หน้าที่ รู้รักแผ่นดิน ควบคู่ไปด้วย ตามแผนงานกิจกรรมที่เสนอในที่ประชุมสัมมนาฯ โดยโรงเรียนที่มาร่วมการสัมมนาฯ จะถือเป็นโรงเรียนหลักที่จะต้องสร้างเครือข่ายโรงเรียนภาคีในจังหวัดของตนเพิ่มอีก 3 โรงเรียน ซึ่งโครงการของโรงเรียนใด ได้รับคัดเลือกให้เป็นโครงการที่มีแบบอย่างปฏิบัติที่ดี จะได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติ และโครงการฯ ได้รับการเผยแพร่ในวงกว้าง 

โรงเรียนหลักและโรงเรียนภาคีจะได้รับการต่อยอด ให้คัดเลือกนักเรียนเป็นผู้แทนมาเข้าค่ายอบรมเรียนรู้ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ใน 3 จังหวัด (เชียงใหม่ สกลนคร ฉะเชิงเทรา) เรียนรู้การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และภาษาอังกฤษ ที่อุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธร จ.เพชรบุรี อบรมธรรมะ ที่สวนธรรมศรีปทุม จ.ปทุมธานี ภายหลังการเข้าค่ายอบรม จะมีการคัดเลือกนักเรียนให้ไปสานสัมพันธ์กับเยาวชนใน ประเทศจีน อินโดนีเซีย เนปาล บรูไน เกาหลีใต้  และประเทศในโครงการ สอท. สกญ. อุปถัมภ์

นอกจากนี้ คณะผู้เข้าร่วมสัมมนายังได้รับการพัฒนา ทักษะเชิงภาษาในการสื่อสารสร้างสัมพันธ์  โดย คุณคริสโตเฟอร์ ไรท์ และคณะผู้เชี่ยวชาญด้านการอบรมภาษาอังกฤษ พร้อมฝึกฝนการสื่อสารภาษาอังกฤษ ในการกล่าวต้อนรับ การแนะนำโรงเรียน การสนทนา การสัมภาษณ์ครูชาวต่างชาติ การกล่าวขอบคุณ กับคณะชาวต่างชาติที่มาเยือนโรงเรียน

ในการสัมมนาครั้งนี้ คุณหญิงกษมาฯ ได้มอบโล่เชิดชูเกียรติให้กับโรงเรียน 8 โรงเรียน ที่ชนะเลิศการแข่งขัน โครงการเล่าเรื่องเมืองไทย ใส่ใจให้คิด กับทุกมิติการเรียนรู้ ผ่านยุวทูต On Air ประกอบด้วย 

พระบรมมหาราชวัง ความงดงามคู่กรุงรัตนโกสินทร์  โรงเรียนพระตำหนักหนักสวนกุหลาบ กรุงเทพมหานคร 

อัญมณีใต้ดิน ถิ่นจันทบูร โรงเรียนสฤษดิเดช จังหวัดจันทบุรี 

อุทยานเขางู จากวันวานสู่ปัจจุบัน  โรงเรียนอนุบาลราชบุรี จังหวัดราชบุรี 

ความสัมพันธ์ทางการทูตกับนานาประเทศ ในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช โรงเรียนบ้านโคกกะเทียม (ราษฎร์ดำริบำรุง)  จังหวัดลพบุรี 

109 ครั้ง รอยพระบาทยาตรายังจารึก สกลนคร  โรงเรียนอนุบาลสกลนคร จังหวัดสกลนคร 

พฤกษศาสตร์ป่าชายเลน ปากน้ำเมืองระยอง  โรงเรียนอนุบาลระยอง จังหวัดระยอง  

พิพิธภัณฑ์เพื่อการศึกษา ฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี  โรงเรียนอนุบาลยะลา จังหวัดยะลา

จากการประเมินผลของผู้บริหารโรงเรียนและครูโรงเรียนในเครือข่ายมูลนิธิยุวทูตฯ ที่เข้าร่วมการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ โครงการเยาวชนคนดี รู้หน้าที่ รู้รักแผ่นดิน ปี 2566 ต่างคิดเห็นว่า การเข้าร่วมสัมมนาฯ ทำให้ได้ทราบถึงที่มาของโครงการยุวทูตความดี และการดำเนินโครงการและกิจกรรมภายใต้การดำเนินงานของมูลนิธิยุวทูตความดี และการสนับสนุนของกระทรวงการต่างประเทศ ที่มีความมุ่งมั่นจริงจังในการสร้างเยาวชนของชาติให้มีความฉลาดรู้ ฉลาดคิด พฤติกรรมสร้างสรรค์ความดี ที่มีผลต่อการสร้างเยาวชนของชาติให้เป็นคนดี และภาคภูมิใจในความเป็นไทย รวมทั้ง เป็นการจุดประกายความคิด ให้นำความรู้ที่ได้รับจากการสัมมนาฯ โดยเฉพาะการเรียนรู้ในยุคดิจิทัล ที่ได้แนะแนวทางในการพัฒนาเยาวชนในยุคใหม่ ที่มีความก้าวล้ำในยุคดิจิทัลอย่างรู้เท่าทัน  ซึ่งสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการสอดแทรกเนื้อหารายวิชา และการออกแบบกิจกรรมให้กับนักเรียน ในมิติต่าง ๆ ทั้งการทำจิตอาสา การถ่ายทอดวัฒนธรรม การพารัก พารู้รากเหง้าแผ่นดินไทย และการดำเนินวิถีชีวิตอย่างยั่งยืน 

การสัมมนาเชิงปฏิบัติการ ปี 2566 คณะผู้เข้าร่วมการสัมมนา ได้วางแผนกลยุทธ์ ในการดำเนินโครงการร่วมกัน และบูรณาการกิจกรรมไปสู่ทิศทางเดียวกัน ในการส่งเสริมและและสร้างสรรค์การก้าวสู่มิติใหม่แห่งการเรียนรู้ ในการร่วมสร้างเยาวชนคนดีที่รู้คิด มีเหตุผล มีภูมิคุ้มกัน มีความสำนึกในหน้าที่ รักชาติบ้านเมือง รักษาสิ่งแวดล้อม และเพื่อให้มีบทบาทในฐานะเยาวชนที่จะพาให้รู้และพาให้รักในแผ่นดินถิ่นเกิด เพื่อธำรงรักษาวัฒนธรรมไทยในยั่งยืน สืบไป

โครงการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ

การสัมมนาเชิงปฏิบัติการโครงการเสริมสร้างต้นกล้าความดี ตามวิถีพอเพียง ปี 2561

มีผู้อำนวยการโรงเรียนและครูผู้รับผิดชอบโครงการฯ เข้าร่วมทั้งสิ้น 132 คน จาก 67 โรงเรียน ใน 67 จังหวัด

การสัมมนาเชิงปฏิบัติการ โครงการเหย้า-เยือนเพื่อพลังแผ่นดิน ปี 2557

เพื่อระดมสมองและบูรณาการความร่วมมือ ในเชิงร่วมคิดร่วมทำของผู้บริหารและครู ที่จะส่งเสริมเยาวชนให้เป็นพลังสำคัญของแผ่นดิน ด้วยการใช้หลักรู้รัก-สามัคคี กำหนดแผนงานเหย้า-เยือนระหว่าง 5 คู่จังหวัด โดยในแต่ละจังหวัดจะประกอบด้วย 1 โรงเรียนหลัก และ 3 โรงเรียนภาคี

keyboard_arrow_up