Skip to main content

การสัมมนาเชิงปฏิบัติการโครงการเสริมสร้างต้นกล้าความดี ตามวิถีพอเพียง ปี 2561

17 - 20 มกราคม 2561
ผู้เข้าชม 21,106

มูลนิธิยุวทูตความดี กระทรวงการต่างประเทศ จัดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ “โครงการต้นกล้าความดี ตามวิถีพอเพียง ปี 2561” ระหว่างวันที่ 17 – 20 มกราคม 2561 ที่โรงแรมนารายณ์ โดยมี ผู้อำนวยการโรงเรียนและครูผู้รับผิดชอบโครงการฯ เข้าร่วมทั้งสิ้น 134 คน จาก 67 โรงเรียนที่มีทั้ง โรงเรียนเล็ก (157 คน) ถึงโรงเรียนใหญ่ (3,711 คน) เข้าร่วม โดยมีนักเรียนในความดูแลกว่า 88,844 คน 

การสัมมนาฯ มีจุดมุ่งหมายเพื่อบูรณาการความการขับเคลื่อนโครงการและกิจกรรมเสริมสร้าง ต้นกล้าความดี ให้เข้าใจและเข้าถึงความพอเพียงตามคำพ่อสอนและนำไปปฏิบัติอย่างจริงจัง ต่อเนื่อง รวมทั้งให้มีบทบาทนำในการเผยแพร่แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงแก่เยาวชนประเทศเพื่อนบ้าน การสัมมนาฯ จึงเป็นโอกาสให้คณะผู้บริหาร คณะครู ได้แลกเปลี่ยนแนวคิดและแนวปฏิบัติในการดำเนินโครงการฯ อย่างสร้างสรรค์และบรรลุผล 

ในการนี้ ฯพณฯ ดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นประธานเปิด การสัมมนา เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2561 กล่าวถึง การทำให้คนมีคุณภาพมากที่สุด ในสัดส่วนที่มากที่สุด คนจะต้องมีคุณภาพ มีความดี มีวัฒนธรรม เพื่อทำให้บ้านเมืองเดินหน้าต่อไปได้ ในภาวะที่บ้านเมือง มีการแข่งขันกัน เป้าหมายของการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ต้องเริ่มที่ต้นกล้าความดี ซึ่งคือเด็กและเยาวชน ให้มีความพร้อม ความกล้า ความแข็งแกร่ง ที่จะรับมือกับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นในภายภาคหน้า จึงจะต้องมีการผลักดัน ขับเคลื่อนให้มีการตื่นตัว ตามวิสัยทัศน์ของยุวทูต คือ ปลูกจิตสำนึก ฝึกจิตอาสา และพัฒนาโลกทัศน์ โครงการยุวทูตความดีจึงเป็นแบบอย่างของการศึกษา การเตรียมความพร้อม และ ความเป็นไปได้ในการพัฒนาเด็กและเยาวชน

ทั้งนี้ นางสาวอุษณีย์ ธโนศวรรย์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน รองปลัดธานี ทองภักดีได้กล่าวถึงบทบาทของกระทรวงการต่างประเทศในการพัฒนาเยาวชนยุวทูตฯ ให้ก้าวไกลสู่สากล และที่ปรึกษาชัยสิริ อนะมาน เป็นผู้กล่าวปิดการสัมมนาในหัวเรื่อง ข้อคิด ข้อควรปฏิบัติในการดำเนินโครงการต้นกล้าความดี ตามวิถีพอเพียง  

ผอ.มูลนิธิยุวทูตความดี กล่าวรายงานถึงการเสริมสร้างต้นกล้าความดี ตามวิถีพอเพียง ปี 2561 มีจุดมุ่งหมายเพื่อผู้บริหารและคุณครูโรงเรียนในเครือข่ายได้มีส่วนร่วมแบ่งปัน แลกเปลี่ยนประสบการณ์ และสร้างองค์ความรู้ร่วมกันเกี่ยวกับแนวทางการวางแผนสร้างเยาวชนให้เป็นต้นกล้าความดี ที่มุ่งมั่นปฏิบัติวิถีพอเพียง ตามคำพ่อสอน โดยการน้อมนำ มาปฏิบัติในชีวิตประจำวัน เพื่อให้เป็น เยาวชนคนดีที่คิดถูก คิดเป็น มีคุณภาพ ก้าวสู่โลกกว้างด้วยความสามารถไม่แพ้เปรียบใคร สามารถสื่อสารข้ามพรมแดน เข้าถึงผู้คนและวิทยาการ การค้นคิดที่ล้ำหน้าในประเทศต่าง ๆ ได้อย่างน่าภาคภูมิ รวมทั้งสามารถเผยแพร่ประเทศไทยให้มีที่ยืนอย่างสง่างาม ไม่เพียงแค่เท่าทันและทัดเทียมกับประเทศอื่น แต่ก้าวล้ำด้วยอัจฉริยภาพทางการคิด และความเป็นเลิศทางภูมิปัญญา

การสัมมนาครั้งนี้ ประกอบด้วย การบรรยายพิเศษ โดยผู้ทรงคุณวุฒิและผู้เชี่ยวชาญ ครอบคลุมหัวข้อที่หลากหลายอาทิ

มิติการสร้างเยาวชนให้เป็นต้นกล้าความดี ตามวิถีพอเพียง “ผู้บริหารกับการบ่มเพาะเยาวชนให้เป็นต้นกล้าความดี ในวิถีพอเพียง” โดยดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา การสร้าง“พลังความรู้นำเยาวชนไทย ก้าวสู่ยุค 4.0” โดยคุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา และทราบถึงทิศทางการดำเนินโครงการเสริมสร้างต้นกล้าความดี ตามวิถีพอเพียง ในปีที่ 19 ของมูลนิธิยุวทูตความดี จากผอ.จันทร์ทิพา ภู่ตระกูล ผู้อำนวยการมูลนิธิฯ ด้วย “การคิดเชิงกลยุทธ์ และรากฐานของการสร้างเยาวชนยุค 4.0 ของผู้นำ ในการพัฒนาเยาวชนต้นกล้าความดี เพื่อขับเคลื่อนไทยสู่ความยั่งยืน” โดย ดร.รัฐ ธนาดิเรก

มิติต่างประเทศ สร้างเสริม “บทบาทของเอกอัครราชทูตในการเชื่อมโยงสายสัมพันธ์ระหว่าง ยุวทูตฯ กับเยาวชนนานาประเทศ” นำโดย ดร.อภิชาติ ชินวรรโณ ดร.พลเดช วรฉัตร และนายภาสกร ศิริยะพันธุ์ รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ เรียนรู้ “ข้อควรรู้ เพื่อเตรียมการเดินทางไปประเทศรอบบ้าน” โดยนางสาว ภัทรัตน์ หงษ์ทอง รองอธิบดีกรมการกงสุล พร้อม “มองอนาคตกับการก้าวสู่ประชาคมอาเซียน” ในปีที่ 50 โดยนางสาวบุศรา กาญจนาลัย รองอธิบดีกรมอาเซียน รวมถึง “ตามรอยพระราชา สู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน” โดยนางสาวบุษฎี สันติพิทักษ์ อธิบดีกรมสารนิเทศ เพื่อให้ได้มีบทบาทนำในการเผยแพร่แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง ในฐานะเยาวชนไทยสู่เยาวชนประเทศเพื่อนบ้าน

มิตินวัตกรรม เพิ่มพูนความรอบรู้ จากผู้เชี่ยวชาญ และผู้ปฏิบัติ ที่ยกเป็นตัวอย่าง 2 ด้าน คือ กลไกสู่อนาคต ซึ่งคัดมาในเรื่อง “การสร้างเยาวชน ก้าวสู่ศตวรรษที่ 21” โดยนายเฉลิมพล ปุณโณทก ผู้ประดิษฐ์คิดค้น หุ่นยนต์ดินสอ และ ”นวัตกรรมกับเยาวชนไทยในยุคไทยแลนด์ 4.0” โดยนายสุรวิทย์ องค์กาญจนา ผู้ริเริ่มสร้างสรรค์โมเดล โขนพิพิธ

มีการแบ่งกลุ่มศึกษา วางแผนโครงการและกิจกรรมที่จะนำไปปฏิบัติ เพื่อเสริมสร้างต้นกล้าความดี ออกเป็นกลุ่มปฏิบัติ (workshop) 6 กลุ่ม โดยมีโรงเรียนใน 67 จังหวัด เข้าร่วมในลักษณะ 1 โรงเรียน 1 จังหวัด 1 โครงการ ตามกลุ่มดังนี้

กลุ่มโครงการที่ 1 ศาสตร์พระราชา ก่อเกื้อการพัฒนาที่ยั่งยืน

  • โรงเรียนเข้าร่วม 14 โรงเรียน มีนักเรียนในความดูแล จำนวน 24,142 คน

กลุ่มโครงการที่ 2 สร้างสรรค์วิชาชีพ หล่อเลี้ยงชีวิต ด้วยเศรษฐกิจพอเพียง

  • โรงเรียนเข้าร่วม 14 โรงเรียน มีนักเรียนในความดูแล จำนวน 25,627 คน

กลุ่มโครงการที่ 3 สืบสานวิถีไทย ฟื้นผืนป่า รักษาต้นน้ำ

  • โรงเรียนเข้าร่วม 8 โรงเรียน มีนักเรียนในความดูแล จำนวน 6,822 คน

กลุ่มโครงการที่ 4 รักษ์โลก – รักแผ่นดิน

  • โรงเรียนเข้าร่วม 14 โรงเรียน มีนักเรียนในความดูแล จำนวน 14,275 คน

กลุ่มโครงการที่ 5 ธรรมะกับเศรษฐกิจพอเพียง

  • โรงเรียนเข้าร่วม 18 โรงเรียน มีนักเรียนในความดูแล จำนวน 18,955คน

กลุ่มโครงการที่ 6 ต้นกล้าความดี ก้าวสู่สากล ในวิถีพอเพียง

  • โรงเรียนเข้าร่วม 14 โรงเรียน มีนักเรียนในความดูแล จำนวน 20,143 คน

ทั้งนี้ โรงเรียนที่ดำเนินโครงการข้างต้น จะทำกิจกรรมดำเนินวิถีพอเพียง ตามคำพ่อสอน ควบคู่ไปด้วย ตามแผนงานกิจกรรมที่เสนอในที่ประชุมสัมมนาฯ โดยโรงเรียนที่มาร่วมการสัมมนาฯ จะถือเป็นโรงเรียนหลักที่จะต้องสร้างเครือข่ายโรงเรียนภาคีในจังหวัดของตนเพิ่มอีก 3 โรงเรียน ซึ่งโครงการของโรงเรียนใด ได้รับคัดเลือกให้เป็นโครงการที่มีแบบอย่างปฏิบัติที่ดี จะได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติ และโครงการฯ ได้รับการเผยแพร่ในวงกว้าง รวมทั้งจะได้รับการต่อยอดให้คัดเลือกนักเรียนเป็นผู้แทนมาเข้าค่ายเรียนรู้ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ใน 3 จังหวัด เรียนรู้การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่อุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธร อบรมธรรมะ ที่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.) ภายหลังการเข้าค่าย จะมีการคัดเลือกนักเรียนให้ไปสานสัมพันธ์กับเยาวชนใน ประเทศจีน สปป.ลาว เมียนมา เวียดนาม และกัมพูชา  

นอกจากนี้ คณะผู้เข้าร่วมสัมมนายังได้รับการพัฒนาทักษะเชิงภาษาในการสื่อสารสร้างสัมพันธ์ โดยคณะผู้เชี่ยวชาญภาษาจากสถาบันการต่างประเทศเทวะวงศ์วโรปการ และคุณคริสโตเฟอร์ ไรท์ ฝึกฝนการสื่อสารภาษาอังกฤษกับคณะชาวต่างชาติที่มาเยือนโรงเรียน ในหัวข้อเศรษฐกิจพอเพียง/ ระบบการศึกษาไทย/ ท่องเที่ยวประเทศไทย  

ทั้งนี้ ฯพณฯ รัฐมนตรีว่าการฯ ได้มอบรางวัลให้กับโรงเรียน 3 โรงเรียน ที่จัดทำโครงการที่สะท้อน แบบอย่างของการปฏิบัติที่ดี ในเชิงวิชาการ วิชาชีพ และวัฒนธรรม ประกอบด้วย โครงการใช้ความคิด ปลูกจิตอาสา พัฒนาลุ่มน้ำโขง จากโรงเรียนอนุบาลเชียงของ จ.เชียงราย โครงการธนาคารขยะ เพื่อสร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์จากวัสดุเหลือใช้ จากโรงเรียนบ้านโคกทุ่งน้อย จ.หนองบัวลำภู และโครงการรวมใจภักดิ์ รักษ์วัฒนธรรมท้องถิ่นใต้ มโนราห์แอโรบิก จากโรงเรียนอนุบาลยะลา จ.ยะลา  

การสัมมนาเชิงปฏิบัติการ ปี 2561 คณะผู้เข้าร่วมการสัมมนา ได้วางแผนกลยุทธ์ ในการดำเนิน กิจกรรมร่วมกันส่งเสริมและสร้างสรรค์การเรียนรู้ ความพอเพียง ตามรอยพ่อ  เพื่อให้เยาวชนน้อมนำมาปฏิบัติ ในชีวิตประจำวัน อย่างเข้าใจและเข้าถึงแนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยมุ่งให้เยาวชนรู้จักคิด มีเหตุผล มีภูมิคุ้มกัน มีความรับผิดชอบ มีความสำนึกในหน้าที่ มีจิตสาธารณะต่อส่วนรวม และเพื่อมีบทบาทในฐานะเยาวชนที่จะนำสังคมไทย ก้าวสู่การพัฒนาที่มั่นคง ยั่งยืน สืบไป


โครงการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ

การสัมมนาเชิงปฏิบัติการโครงการเยาวชนคนดี รู้หน้าที่ รู้คุณแผ่นดิน ปี 2566

 มูลนิธิยุวทูตความดี กระทรวงการต่างประเทศ จัดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ “โครงการเยาวชนคนดี รู้หน้าที่ รู้คุณแผ่นดิน ปี 2566” ระหว่างวันที่ 20 – 23 ธันวาคม 2566 ที่โรงแรมรามาการ์เด้นส์ โดยมี ผู้อำนวยการโรงเรียนและครูผู้รับผิดชอบโครงการฯ ทั้งสิ้น 142 คน จาก 72 จังหวัด เข้าร่วม โดยมีทั้ง โรงเรียนเล็ก (ขนาดนักเรียน 137 คน) ถึง โรงเรียนใหญ่ (ขนาดนักเรียน 4,110 คน) รวมมีนักเรียนในความกำกับดูแลจำนวน 112,587 คน   การสัมมนาฯ มีจุดมุ่งหมายเพื่อบูรณาการความร่วมมือกับผู้บริหารและครูโรงเรียนในเครือข่ายมูลนิธิฯ ในการขับเคลื่อนโครงการเสริมสร้างยุวทูตความดี ก้าวสู่สังคมการเรียนรู้ในรูปแบบใหม่อย่างสร้างสรรค์ ให้เยาวชนมีบทบาท เชิงสร้างสรรค์ ในการมีส่วนร่วมนำการพัฒนาอย่างยั่งยืนแก่ชุมชน สังคม และประเทศชาติ การสัมมนาฯ จึงเป็นโอกาสให้คณะผู้บริหาร คณะครู ได้แลกเปลี่ยนแนวคิดและแนวปฏิบัติในการดำเนินโครงการฯ อย่างสร้างสรรค์และบรรลุผล  ในการนี้ นายดอน ปรมัตถ์วินัย ประธานก่อตั้งยุวทูตความดี […]

การสัมมนาเชิงปฏิบัติการ โครงการเหย้า-เยือนเพื่อพลังแผ่นดิน ปี 2557

เพื่อระดมสมองและบูรณาการความร่วมมือ ในเชิงร่วมคิดร่วมทำของผู้บริหารและครู ที่จะส่งเสริมเยาวชนให้เป็นพลังสำคัญของแผ่นดิน ด้วยการใช้หลักรู้รัก-สามัคคี กำหนดแผนงานเหย้า-เยือนระหว่าง 5 คู่จังหวัด โดยในแต่ละจังหวัดจะประกอบด้วย 1 โรงเรียนหลัก และ 3 โรงเรียนภาคี

keyboard_arrow_up