Skip to main content

กลยุทธในการพัฒนากระบวนการเรียนรู้ เพื่อส่งเสริมเยาวชน ให้เป็นพลังของแผ่นดิน

7 - 9 พฤศจิกายน 2557
ผู้เข้าชม 13,941

โดย รศ.ดร.โชติชัย เจริญงาม
สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย


ในภาพกว้าง การจะทำอย่างไรให้คนเป็นคนดีนั้น ตอบยาก ผมเชื่อว่าประเทศไทยมีคนดีเยอะ เยอะกว่าคนไม่ดี เพราะหากเราไม่มีดีอะไร ทำไมคนต่างชาติจึงอยากมาอยู่ประเทศไทย หลายคนบอกว่าเป็นเพราะสังคมไทยมีความอบอุ่น มีการดูแลในเรื่องสุขภาพที่ดี และในแต่ละภาคมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว หากมองในภาพที่เล็กลง โดยเฉพาะด้านการศึกษานั้น ผมมองว่าความเก่งนั้นไม่สำคัญ จะสำคัญก็แต่ความดี การทำความดีจะทำให้เราจดจำขึ้นใจเพราะเรามีความผูกพันกับมันจากการได้ลงมือปฏิบัติการปฏิรูปการศึกษาไทยอาจไม่จำเป็น การปฏิรูปเป็นเพียงแค่กระแสที่ต้องสร้าง ผมชื่นชอบหลักสูตรปี 1 ที่เรียกว่า MUGE (Mahidol University General Education) ของมหาวิทยาลัยมหิดลมากเนื่องจากเป็นวิชาที่ให้นักเรียนมาเรียนรวมกันและสอนเรื่องสังคมกับการทำความดีให้กับสังคม ให้นักเรียนเสนอโครงการทำความดีและให้ลงมือปฏิบัติ ซึ่งส่วนตัวคิดว่า สิ่งที่ได้ทำ จะทำให้จำได้เองและสามารถที่จะทำต่อไปเรื่อย ๆ ได้ วันนี้ผมขอนำงานที่ทำบางส่วนกับกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงวัฒนธรรม และกระทรวงต่างๆมาเสนอ เพื่อว่า ในอนาคตท่านอาจจะสามารถเชื่อมสิ่งที่ท่านทำหรือบูรณาการกับจุดต่าง ๆ เหล่านี้เพื่อให้เป็นประโยชน์ในอนาคตได้

ประการแรก คือ องค์ประกอบว่า ต้องดูว่าท่านอยู่ตรงไหน หากท่านเป็นผอ.เขต ควรเสนอให้คนมารวมกัน และมีการผลักดันกิจกรรมให้ไปในทิศทางเดียวกัน หากท่านเป็นกรรมการโรงเรียน อยากให้ท่านตั้งโจทย์ว่า ท่านจะให้แต่ละคนทำประโยชน์ให้โรงเรียนอย่างไร ควรจะเอาอะไรมาช่วยโรงเรียน

ประการที่สอง คือ คำพูดของครูอาจารย์ คำพูดเหล่านี้สำคัญเพราะสามารถเปลี่ยนชีวิตคนได้ ตัวอย่างเช่นอดีตรัฐมนตรีพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล ผู้มีพ่อเป็นจับกังและต้องการให้รัฐมนตรีพงษ์ศักดิ์เป็นจับกังด้วย แต่ครูพูดให้ท่านเปลี่ยนชีวิตเพราะท่านเรียนเก่ง จนกระทั่งที่สุดแล้ว ท่านสามารถจบวิศวะจุฬาฯ กลายมาเป็นรัฐมนตรีกระทรวงศึกษา ทั้งนี้ ท่านก็ยังคงกลับไปพัฒนาโรงเรียนของท่านที่ปากน้ำโพและเป็นคนคิดโครงการ “หนึ่งอำเภอ หนึ่งโรงเรียนในฝัน” คนดีเช่นนี้ คือคนดีตัวอย่างที่ทางโรงเรียนควรดึงกลับมาพูดถึงความสำเร็จในชีวิตให้เด็กได้ฟัง เพราะบางครั้งรุ่นพี่เหล่านี้เป็นแรงบันดาลใจของเด็กที่ดีได้


กระบวนการเรียนรู้ ผมมองว่ามี 2 แนวคิด คือ การสอนตามหนังสือ อธิบายตามหลักวิชาการและการลงมือปฏิบัติ แต่สิ่งสำคัญคือ เราต้องมีแนวทางการสร้างกระบวนการเรียนรู้ เพื่อส่งเสริมให้เยาวชนเป็นพลังแผ่นดิน ในการที่จะหยั่งให้ถึงรากของความดีนั้น เราต้องเข้าใจถึงวัฒนธรรม บริบท และความเป็นไทย การสร้างกระบวนการเรียนรู้นี้ ไม่เกี่ยวกับหลักสูตร แต่เป็นเรื่องของการสร้างพลัง เราต้องเปลี่ยนกระบวนแนวคิด ทัศนคติ และกระบวนการเรียนรู้ของเด็ก ให้เกิดการร่วมคิด ร่วมทำปัจจุบันนี้ เครือข่ายออนไลน์สามารถเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนได้แหล่งเรียนรู้และการเชื่อมโยงการเรียนรู้กับการเชิดชูอัตตลักษณ์ของท้องถิ่นชุมชน จากการสำรวจของการท่องเที่ยวเห็นประเทศไทย (ททท.) พบว่าร้อยละ 80 ของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาเที่ยวประเทศไทย เขามาเพราะชอบวัฒนธรรมไทย เช่น ลอยกระทง สงกรานต์ ชอบอัตลักษณ์ของคนไทยในพื้นที่ คำถามคือว่า เราจะนำส่วนนี้มาทำอะไรกับนักเรียนของเราได้บ้าง เราควรส่งเสริมกิจกรรม เช่น การให้เด็กได้นั่งคิดย้อนไปถึงรากเหง้าบรรพบุรุษตนของตัวเองสัก 5 รุ่น เพราะตนเชื่อว่า กิจกรรมนี้จะสร้างให้เด็กเกิดความภาคภูมิใจในรากเหง้าตัวเอง เพราะเขารู้ว่า เขาผ่านอะไรมาบ้าง จุดไหนคือจุดเปลี่ยน เป็นต้น

การมุ่งพัฒนาโลกทัศน์และการสานสัมพันธ์ระหว่างเยาวชนต่างภูมิภาค รากของโครงการนี้ส่วนหนึ่งมาจากการที่กระทรวงการต่างประเทศได้ทำโครงการเรื่องเยาวชนอาเซียนเมื่อ 4 – 5 ปีที่แล้ว โดยได้นำเยาวชนอาเซียนมาอยู่เมืองไทย เพื่อทำให้เขารักเมืองไทย ระหว่างกิจกรรมก็ให้เด็กได้สร้างเครือข่ายออนไลน์ร่วมกัน ต่อมา เครือข่ายนี้เจริญเติบโตขึ้นและมีการแลกเปลี่ยนกันมากขึ้น ในอนาคตหากเรามองไปได้ไกล เราก็สามารถทำเรื่องการพัฒนา สานความสัมพันธ์จากนักเรียนสู่นักเรียนนี้ได้ แต่เราต้องรู้จักคน ต้องสร้างเครือข่ายให้มาก เพราะยิ่งรู้มากเท่าไหร่ก็ยิ่งเป็นประโยชน์ต่อเราในวันข้างหน้ามากขึ้นเท่านั้น ดังนั้น เราเองควรกระตุ้นและส่งเสริมให้เด็กสร้างเครือข่ายนี้ สิ่งนี้จะสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับสังคมและก่อให้เกิดพลังได้มาก

การขยายผล การผนึกกำลังกับโรงเรียนภาคีเครือข่ายสู่ชุมชนท้องถิ่น หรือที่เรียกกันว่า “networking” โดยให้ดูว่าเรื่องนี้เกี่ยวกับการปฏิรูปการศึกษาอย่างไร ทั้งนี้ กรอบแนวคิดการปฏิรูปการศึกษา ประกอบด้วยปัจจัย คือ

  1. การพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา เช่น การอบรม
  2. การมีองค์กรปกครองท้องถิ่นด้านเอกชนเป็นส่วนประกอบ
  3. การมีการจัดทำนโยบายและระบบ

หากมีการคิดประเมินคุณลักษณะของคนไทยด้วยกัน จะสรุปผลได้ดังนี้
1) คนไทยมีคุณภาพ ในระดับมาตรฐานสากลในจุดนี้ตนคิดว่าคนไทยทำกันได้บ้างแล้ว เพราะคนไทยสามารถไปทำงานเมืองนอกได้ ธุรกิจไทยสามารถขยายไปเมืองนอกได้
2) คนไทยใฝ่รู้ ทั้งเรื่องของวัฒนธรรม ศิลปะ อัตตลักษณ์ โบราณคดีต่างๆที่เกี่ยวข้องกับรากเหง้า ความเป็นไทย ซึ่งคิดว่าคนไทยทำได้ และโครงการนี้มีส่วนช่วยส่งเสริมอย่างเต็มที่
3) คนไทยใฝ่ดี ส่วนหนึ่งผมว่าใช่ เพราะเห็นได้จากการที่มีคนไทยจำนวนมากช่วยกันบริจาคเงินช่วยเหลือสังคมและศาสนา หากแต่การบริจาคให้กับโรงเรียนยังมีไม่มาก เนื่องจากการมีระบบตอบรับและระบบทำงานที่ช้า การจัดการยังไม่ดีเท่าที่ควร
4) คนไทยคิดเป็น ทำเป็น แก้ปัญหาได้


นอกเหนือจากขอบเขตของหลักสูตร องค์ประกอบการปฏิรูปการศึกษา เราเน้นเรื่อง
1) แหล่งเรียนรู้ชุมชน ในปีก่อน กระทรวงวัฒนธรรมได้เรียกสภาวัฒนธรรมจังหวัดมาคุยกัน ยกตัวอย่างเช่น จังหวัดสุพรรณบุรีพูดถึงลูกทุ่ง ตนมองว่าการนำเสนอนี้เป็นสิ่งที่ดีจึงได้จัดทำโครงการ “ของดีบ้านฉัน” ขึ้น โดยมีการประกวดของดีจากแต่ละที่เพื่อค้นหาสุดยอดของดีบ้านฉันของจังหวัดและของดีบ้านฉันของประเทศ การที่รู้ว่าชุมชมของเรานั้นมีดีอะไร จะทำให้เกิดความรัก ความหวงแหนของสิ่งเหล่านั้นทำให้ทุกคนกลับไปสู่ราก กลับไปสู่ความเป็นตัวตนของตนเอง
2) หลักสูตร ในเรื่องนี้เป็นเรื่องของสพฐ. อยู่แล้ว ไม่เกี่ยวกับโครงการนี้
3) ความเก่ง ในเมื่อเด็กชอบกวดวิชาอยู่แล้ว ขอเสนอให้สพฐ.ทำเรื่องกวดวิชาไปเลย เช่น จัดตั้งสถาบันกวดวิชาแห่งชาติ โดยคัดอาจารย์ที่เก่งที่สุดในสพฐ.มาสอน เพื่อให้เด็กตื่นตาตื่นใจและมีความสนุกสนาน เรื่องนี้จะช่วยพัฒนาเด็กต่างจังหวัดได้ดีมาก ๆ

ดังนั้น หากดูในเรื่ององค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรม หากท่านสามารถผลักดันให้เป็นเรื่องในระดับชาติได้นั้น หมายความว่า ท่านกำลังจะทำนวัตกรรมเพื่อการเรียนรู้ไม่เพียงแค่ในห้องเรียน แต่เป็นการเรียนรู้ที่เป็นการสืบค้นเสาะหา แลกเปลี่ยนกันผ่านเครือข่ายในชุมชน เช่นนี้แล้ว ผลสัมฤทธิ์จะถูกวัดโดยความรักประเทศไทย ความรักชุมชน ความชื่นชมในวัฒนธรรมต่างถิ่น ไม่ใช่ O-NET และ A-NET และหากทำเรื่องนี้ไปเรื่อยๆ ไม่ว่าใครก็อยากสนับสนุน แต่เราต้องมีความทันสมัย

การเกี่ยวโยงกับค่านิยม 12 ประการ ตนคิดว่า โครงการนี้สอดคล้องกับหลักค่านิยม 12 ประการทุกประการ เช่น ทำให้เกิดความรักชาติ รักวัฒนธรรมในท้องที่และวัฒนธรรมต่างถิ่นโดยธรรมชาติ ผ่านการจับคู่เด็กและให้เด็กเล่าเรื่อง ผ่านการนำวิทยากรมาเสริมเพิ่มเติมความรู้เด็ก ทำให้เด็กมีความต้องการที่จะรักษาวัฒธรรมประจำชาติ ทำให้เด็กชื่นชม รู้คุณค่า และเกิดความอยากที่จะรักษาโดยอัตโนมัติ เป็นต้น


ขอเรียนว่า วัฒนธรรมไทยมี 2 จำพวก คือ
  1. จับต้องได้ วัฒนธรรมประเภทนี้สามารถเรียนรู้จากสถานที่ สื่อ บุคลากรผู้เชี่ยวชาญได้
  2. จับต้องไม่ได้เช่น วิถีชีวิตสบายๆของคนไทย การดูแลที่อบอุ่น วัฒนธรรมประเภทนี้เป็นจุดแข็งของประเทศไทย ที่สามารถดึงนักท่องเที่ยวให้มาเที่ยวและทำรายได้ให้ประเทศได้ สิ่งที่เราต้องทำ คือ ต้องให้เด็กเห็นคุณค่าในสิ่งเหล่านี้ให้ได้
ผมเคยได้เคยคุยกับกระทรวงวัฒนธรรมและได้ตั้งโจทย์ 3 ข้อ ที่เห็นว่าโครงการอาจจะสามารถนำไปใช้เป็นประโยชน์ในอนาคตได้ คือ
  1. จะสืบสานของดีได้อย่างไร
  2. จะสร้างสรร หรือ ต่อยอดสิ่งไหน
  3. จะบูรณาการอย่างไร

กระทรวงวัฒนธรรมหากจะทำโครงการที่สำคัญ สิ่งที่เราจะต้องดูในเรื่องทางด้านสังคม คือ เราต้องหารากทางวัฒนธรรมของชุมชนมาก่อน เช่น โครงการเมืองวัฒนธรรมหน้าด่านอาเซียน เราต้องปักวัฒนธรรมของเราไว้ ไม่ให้วัฒนธรรมอื่นบดบังวัฒนธรรมเรา โครงการค่ายศิลปวัฒนธรรมเยาวชน เราต้องฝึกให้เด็กเป็นผู้เชี่ยวชาญวัฒนธรรมให้ได้ โครงการสุดยอดการแสดงศิลปะวัฒนธรรมดนตรีไทยในแต่ละภาค เราต้องสนับสนุนและส่งเสริมความสามารถพิเศษของคนในแต่ละภาค ทำให้คนไทยชื่นชมในความสามารถความพิเศษของสิ่งเหล่านี้ได้ ในเรื่องโครงการด้านเศรษฐกิจ โครงการการพัฒนาเมืองการพัฒนาวัฒนธรรมเพื่อการท่องเที่ยว เราต้องรักษาไว้ซึ่งวัฒนธรรมที่หลากหลาย โครงการ OTOP เราต้องให้มีการแลกเปลี่ยนกัน เหล่านี้คือโครงการที่กระทรวงวัฒนธรรมจะผลักดันให้เกิดขึ้น ซึ่งท่านสามารถนำโครงการเหล่านี้ไปเพิ่มเติมในโครงการของท่านได้ เช่น โครงการรากวัฒนธรรม ที่ทำให้เด็กเกิดความรักความความภาคภูมิใจในบ้านเกิดและวัฒนธรรมตน สำหรับตนคิดว่า ความดีและกลไกขับเคลื่อนวัฒนธรรมจังหวัดและวัฒนธรรมตำบลเริ่มจากตรงนี้เอง สำหรับโครงการเมืองหน้าด่านวัฒนธรรมอาเซียนเองก็ช่วยส่งเสริมและสร้างความเข้มแข็งในชุมชนทั้งหมดนี้ เราใช้วัฒนธรรมจังหวัดเป็นแกนในการเชื่อมสถานศึกษาในจังหวัด ที่ท่านก็สามารถทำได้

การขับเคลื่อนในระดับพื้นที่ ส่วนนี้จะเป็นเรื่องเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรม ในครั้งที่ผมได้ร่วมงานกับกระทรวงการต่างประเทศ มีคำถามคือว่า ทำอย่างไรให้กระทรวงการต่างประเทศเป็นหน่วยงานถ่ายทอดศิลปะวัฒนธรรมไทยในต่างประเทศได้ สำหรับมิติของสังคมนั้น เราต้องให้ต่างประเทศเรียนรู้วิถีความเป็นไทย เราต้องสามารถสร้างสันติสุขทางจิตใจให้คนที่มาอยู่ รู้สึกสุขสงบและเกิดความสุขได้ เราต้องส่งเสริมกีฬาและนันทนาการ เราต้องสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ ในส่วนมิติทางเศรษฐกิจ เราต้องป้องกันวัฒนธรรมไทยไม่ให้ถูกทำลายหรือถูกขโมยไป ต้องมีนวัตกรรม เช่น การทำ packaging ใหม่ให้ขนมไทยมีความน่าสนใจมากขึ้นสามารถเพิ่มมูลค่าสินค้าได้ นวัตกรรมนี้รวมถึงเรื่องอาหาร ธุรกิจบันเทิง แพทย์แผนไทย และอื่นๆ เป็นต้น
ที่ได้กล่าวมาแล้วทั้งหมดข้างต้นเป็นเพียงเมล็ดพันธุ์แห่งความคิด เผื่อเวลาท่านจะระดมความคิด ผมอยากให้มองออกนอกโรงเรียน อยากให้มองไปในระดับชุมชน แล้วท่านจะเห็นว่าท่านมีของเล่นเยอะแยะมากมาย ของที่จะให้เด็กท่านเล่นได้ ขอบคุณครับ

* ถอดความจากการบรรยายพิเศษในการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ โครงการเหย้า – เยือน เพื่อพลังแผ่นดิน ปี 2557
วันที่ 8 พฤศจิกายน 2557 ที่กระทรวงการต่างประเทศ

ต่อยอดความรู้ สู่การปฏิบัติ

คำกล่าวเปิดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ โครงการต้นกล้าความดี ตามวิถีพอเพียง

พลังความรู้นำเยาวชนสู่ยุค 4.0 4.0 เป็นคำที่สะท้อนของวิวัฒนาการ จากยุคที่เราเคยล่าสัตว์ ทำการเกษตร บัดนี้ก็มาถึงยุคที่เราจะต้องสร้างและขับเคลื่อนสังคมด้วยนวัตกรรม

ผู้บริหารกับการบ่มเพาะเยาวชนให้เป็นต้นกล้าความดี ในวิถีพอเพียง

พลังความรู้นำเยาวชนสู่ยุค 4.0 4.0 เป็นคำที่สะท้อนของวิวัฒนาการ จากยุคที่เราเคยล่าสัตว์ ทำการเกษตร บัดนี้ก็มาถึงยุคที่เราจะต้องสร้างและขับเคลื่อนสังคมด้วยนวัตกรรม

พลังความรู้นำเยาวชนสู่ยุค 4.0

พลังความรู้นำเยาวชนสู่ยุค 4.0 4.0 เป็นคำที่สะท้อนของวิวัฒนาการ จากยุคที่เราเคยล่าสัตว์ ทำการเกษตร บัดนี้ก็มาถึงยุคที่เราจะต้องสร้างและขับเคลื่อนสังคมด้วยนวัตกรรม

keyboard_arrow_up