Skip to main content

“การมองอนาคตอาเซียน”

ผู้เข้าชม 7,152

ท่านรองบุศรา กาญจนาลัย
รองอธิบดีกรมอาเซียน

ประชาคมอาเซียน ประกอบด้วย 3 เสาหลัก คือ เสาการเมืองและความมั่นคง เสาเศรษฐกิจ และเสาสังคมวัฒนธรรม แต่หลาย ๆ คนมักจะพูดกันว่าเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เพราะตัวเลขและความเคลื่อนไหวด้านเศรษฐกิจสามารถมองเห็นได้ชัดเจนกว่าด้านการเมืองความมั่นคง และด้านสังคมที่เกิดขึ้นอย่างช้า ๆ แต่ที่เรามีความสุข เจริญรุ่งเรืองได้ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะ 3 เสาหลักของอาเซียนที่มั่นคง เพราะฉะนั้นเราได้เข้าสู่ประชาคมอาเซียนเรียบร้อยแล้ว ตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2558 ในช่วงนี้เป็นช่วงที่เรากำลังสร้างประชาคมอาเซียนให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น

อาเซียนเกิดขึ้นเพื่อให้ประเทศสมาชิกทั้ง 10 ประเทศ มีความเข้าใจอันดีระหว่างกัน สร้างสันติภาพ ในภูมิภาค เสริมสร้างเศรษฐกิจ พัฒนาสังคมและวัฒนธรรม ส่งเสริมความร่วมมือกับประเทศภายนอก อาเซียนมีหนึ่งวิสัยทัศน์ คือการมองอนาคตร่วมกัน หนึ่งอัตลักษณ์ คือมีความหลากหลาย แต่สามารถรวมกันได้ ก้าวไปด้วยกันทั้ง 10 ประเทศ ความสำคัญของอาเซียนที่เกิดขึ้นคือ เป็นตลาดที่สำคัญของประเทศไทยมีเศรษฐกิจที่คึกคัก และมีความร่วมมือเป็นภาคีภายในภูมิภาค

           เสาแรกของ 3 เสาหลักของอาเซียนคือ AEC (Asean Economics Community) แทนด้วยภาษาอังกฤษคำว่า progress and prosperity ความก้าวหน้า และเจริญรุ่งเรือง นิยามของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน คือมีความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจ การทำเขตการค้าเสรีระหว่างอาเซียน ซึ่งเสรีทั้งด้านการค้าการลงทุน และเศรษฐกิจโดยรวม กลายเป็นตลาดการค้าขนาดใหญ่ของคนกว่า 630 ล้านคน

           เสาที่ 2 คือ APSC (ASEAN Political Security Council) แทนด้วยภาษาอังกฤษคำว่า peace สันติภาพ และความมั่นคง เสานี้มีความสำคัญ แม้จะมองไม่เห็นออกมาเป็นตัวเลข แต่ที่เรายังอยู่ได้อย่างสบายใจก็เพราะเรามีสันติภาพภายในภูมิภาค รวมทั้งเราได้ผลักดันให้อาเซียนเป็นพื้นที่ปลอดยาเสพติด และป้องกันการใช้อาวุธนิวเคลียร์ในภูมิภาคด้วย

           เสาสุดท้ายคือ ASCC (ASEAN Socio-Cultural Community) เสาสังคมและวัฒนธรรม แทนด้วยภาษาอังกฤษคำว่า people ซึ่งดิฉันคิดว่าเป็นสิ่งสำคัญที่สุด เสานี้จะช่วยสร้างพลเมืองอาเซียนให้มีความรู้ และคุณธรรม พร้อมทั้งให้ความคุ้มครองด้านสวัสดิการสังคม ในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ เราได้ผลักดันการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน มีการจัดตั้งกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน ต่อมาได้ผลักดันให้เกิดคณะกรรมาการให้ความคุ้มครองด้านสิทธิเด็กและสตรีของอาเซียน ล่าสุดอาเซียนมีความตกลงร่วมกันว่าจะต่อต้านการค้ามนุษย์ โดยเฉพาะประเทศที่พรมแดนติดกันจะต้องร่วมมือกัน ในส่วนของกระทรวงศึกษาของไทยก็ได้ผลักดันแผนพัฒนาการศึกษาอาเซียน เพื่อให้อาเซียนเป็นสังคมที่มีความรู้ เอื้ออาทรซึ่งกันและกัน

           อาเซียนอยู่มา 50 ปีแล้ว มีความเป็นพลวัต มีการคบหากับประเทศมหาอำนาจมากยิ่งขึ้น ซึ่งช่วยค้ำประกันความมีเสถียรภาพ และความเจริญรุ่งเรืองของภูมิภาค ปัจจุบันอาเซียนเป็นระบบเศรษฐกิจอันดับ 3 ของเอเชีย อันดับที่ 6 ของโลก มูลค่า GDP ร้อยละ 6.2 ของโลกในปี พ.ศ. 2559 และมูลค่าการค้า 2.1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ โดย 1 ใน 4 เป็นการค้ากับประเทศเพื่อนบ้าน 630 ล้านคน เทียบเท่าร้อยละ 8.8 ของประชากรทั้งโลก

ในปี พ.ศ. 2558 มีนักท่องเที่ยวนานาชาติเดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศสมาชิกอาเซียนถึง 118 ล้านคน โดยประเทศที่รับนักท่องเที่ยวมากที่สุดคือ ประเทศไทย บริษัทชั้นนำของเอเชีย ก็มีบริษัทไทยรวมอยู่ด้วย ทั้ง ปตท. ธนาคารไทยพาณิชย์ และ AIS นี่เป็นประโยชน์ของการที่เรารวมตัวกัน ร่วมมือกัน ทำให้เศรษฐกิจมีการเลื่อนไหลของงาน และการจ้างงาน

             ในปีที่ก่อตั้งอาเซียนมีประชากรแค่ 185 ล้านคน ก่อนเพิ่มเป็น 634 ล้านคนในปี 2558 จากมูลค่าการค้าหมื่นล้าน ก็กลายเป็นสองล้านล้าน แสดงให้เห็นว่า 50 ปีที่ผ่านมา อาเซียนได้สร้างงาน สร้างโอกาสให้กับคนมากมาย ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติจาก 122 ดอลลาร์ กลายเป็น 4 พันดอลลาร์ต่อปี อายุเฉลี่ยเพิ่มขึ้นจาก 56 ปี เป็น 71 ปี ระดับความยากจนต่ำก็กว่าระดับความยากจนของโลกแล้ว เหลือเพียงร้อยละ 14 การลงทุนระหว่างอาเซียนเองก็มีการขยายมากขึ้น ซึ่งประเทศไทยค่อนข้างได้เปรียบ เพราะอยู่กึ่งกลางอาเซียน ภาคบริการในปี พ.ศ. 2542 คิดเป็นร้อยละ 50 และในปี พ.ศ. 2558 เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 80 ในด้านสังคม การพัฒนาของประชากรอาเซียนในปี พ.ศ. 2558 เพิ่มเป็นร้อยละ 8.5 ของประชากรทั้งหมด อายุยืนขึ้น อัตราการอ่านออกเขียนได้เพิ่มขึ้น รวมทั้งอัตราการรู้หนังสือก็เพิ่มขึ้น แต่จะแตกฉานหรือไม่ ก็ต้องฝากให้ครูอาจารย์ช่วยดูแล ของประเทศไทยอยู่ที่ประมาณร้อยละ 96 ซึ่งเป็นอัตราที่ค่อนข้างสูง

             อาเซียนเป็นอันดับ 1 ของโลกของประเทศที่มีเมืองที่รับทำงาน Business Processing Corporation ซึ่งคล้ายกับ Back Office คือบริษัทต่างชาติจ้างประเทศในอาเซียนถือโทรศัพท์ตอบลูกค้าทำบัญชี หรือทำงานด้านหลังให้ โดยประเทศที่มีชื่อเสียงด้านการทำ Back Office คือ ฟิลิปปินส์ และอินเดีย เพราะพูดภาษาอังกฤษได้ดีมาก จึงอยากฝากอาจารย์ให้ช่วยพัฒนาเด็กไทยของเราให้เก่งขึ้น โดยต้องมีคุณธรรมด้วย

             เราก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียนเรียบร้อยแล้ว แต่กระบวนการสร้างประชาคมยังมีต่อไปเรื่อย ๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้นำอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ เห็นตรงกันว่าอาเซียนยังต้องพัฒนาต่อไปเรื่อย ๆ และมองภาพอนาคตของอาเซียนในอีก 10 ปีข้างหน้าว่าต้องให้ความสำคัญกับประชาชน เป็นประชาคมอาเซียนที่มีกฎกติกา มารยาท และจริยธรรม สามารถรับมือด้านความมั่นคงที่ครอบคลุมทุกมิติ รวมทั้งภัยพิบัติต่าง ๆ ด้วย

             หนึ่งในโครงการที่ประเทศไทยพยายามผลักดัน และน่าจะเกิดผลเร็ว ๆ นี้ คือ คลังอุปกรณ์การให้ความช่วยเหลือเวลาเกิดภัยพิบัติภายในอาเซียน คลังแรกเกิดขึ้นแล้วที่มาเลเซีย ส่วนประเทศไทยจะเป็นคลังต่อเนื่องคือเมื่อมีภัยพิบัติเกิดขึ้นเมื่อไหร่ก็สามารถส่งสิ่งของไปให้ความช่วยเหลือได้

             สิ่งหนึ่งที่อาเซียนมีความกังวลคือ อายุเฉลี่ยของคนในอาเซียนที่สูงขึ้น ประเทศไทยมีคนอายุ 60 ปี ถึง ร้อยละ 16.5 ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเข้าสู่สังคมสูงวัยแล้ว จึงจำเป็นที่จะต้องพัฒนาศักยภาพของผู้สูงวัยเหล่านั้นซึ่งยังสามารถทำงานได้ โดยเราจะพยายามตั้งศูนย์ Active Ageing มีการสร้างความร่วมมือด้านวิจัยเพื่อให้อาเซียนเป็นสังคมที่คนทุกเพศ ทุกวัย ของทุกประเทศ ได้รับการคุ้มครองดูแล เป็นสังคมที่เอื้ออาทรกัน

             ในปัจจุบันเราจะได้ยินคำว่า disruption บ่อยขึ้น การผกผัน พลิกผัน ก่อให้เกิดทั้งผลดี และผลเสีย กล่าวคือในขณะที่โลกมีความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยี และนวัตกรรม ทำให้คนเจริญรุ่งเรืองขึ้น แต่ก็ทำให้สิ่งที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบันกลายเป็นเรื่องล้าสมัย การศึกษาจึงเป็นสิ่งจำเป็น โดยเฉพาะการสอนแบบ STEM ที่เน้นทั้งด้านศิลปะ เหตุผล การคิดวิเคราะห์ การคิดเชิงสร้างสรรค์ และความสำคัญกับจริยธรรมความถูกต้อง ไม่ใช่เพื่อความก้าวหน้าเพียงอย่างเดียว และในปีหน้านี้เราจะเป็นประธานอาเซียน จึงอยากฝากให้อาจารย์ทุกท่านได้ให้ข้อมูลกับเด็ก ๆ ทางกรมอาเซียนเองก็มีการจัดกิจกรรม เช่น VDO Contest ให้เด็กๆประกวดความคิดเห็นว่าคิดอย่างไรกับอาเซียน และอยากให้อาเซียนเป็นอย่างไร มีการจัดการตอบปัญหาอาเซียน นอกจากนี้ยังมีการจัดทำ และมอบห้องสมุดอาเซียน เพื่อให้เยาวชนได้รู้จักอาเซียน และประเทศเพื่อนบ้านอย่างลึกซึ้งมากขึ้น ทั้งนี้การระวังคำพูดก็เป็นสิ่งสำคัญ ดังที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ไม่เคยรับสั่งเรียกลาวว่าเป็นบ้านพี่เมืองน้อง แต่ทรงเรียกว่าประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียง อยู่ในระดับเดียวกัน

            ช่องทางในการติดต่อกรมอาเซียน หรือข่าวสารต่าง ๆ คือรายการวิทยุวังสราญรมย์ ที่ชื่อว่า เราคืออาเซียน ในเวลา 06.30 น. ทุกวันอังคาร และพฤหัสบดี หรือติดตามข้อมูลทาง Facebook ซึ่งทุกท่านสามารถแสดงความคิดเห็น และให้คำแนะนำแก่พวกเราเพื่อนำไปใช้ในการเจรจาในเวทีอาเซียนได้ เพราะทุกครั้งที่เราไปประชุมก็เพื่อคนไทยของเราเอง

* ถอดความจากการบรรยายพิเศษในการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ โครงการต้นกล้าความดี ตามวิถีพอเพียง ปี 2561 วันที่ 20 มกราคม 2561 ที่โรงแรมนารายณ์ กรุงเทพฯ

ต่อยอดความรู้ สู่การปฏิบัติ

คำกล่าวเปิดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ โครงการต้นกล้าความดี ตามวิถีพอเพียง

พลังความรู้นำเยาวชนสู่ยุค 4.0 4.0 เป็นคำที่สะท้อนของวิวัฒนาการ จากยุคที่เราเคยล่าสัตว์ ทำการเกษตร บัดนี้ก็มาถึงยุคที่เราจะต้องสร้างและขับเคลื่อนสังคมด้วยนวัตกรรม

ผู้บริหารกับการบ่มเพาะเยาวชนให้เป็นต้นกล้าความดี ในวิถีพอเพียง

พลังความรู้นำเยาวชนสู่ยุค 4.0 4.0 เป็นคำที่สะท้อนของวิวัฒนาการ จากยุคที่เราเคยล่าสัตว์ ทำการเกษตร บัดนี้ก็มาถึงยุคที่เราจะต้องสร้างและขับเคลื่อนสังคมด้วยนวัตกรรม

พลังความรู้นำเยาวชนสู่ยุค 4.0

พลังความรู้นำเยาวชนสู่ยุค 4.0 4.0 เป็นคำที่สะท้อนของวิวัฒนาการ จากยุคที่เราเคยล่าสัตว์ ทำการเกษตร บัดนี้ก็มาถึงยุคที่เราจะต้องสร้างและขับเคลื่อนสังคมด้วยนวัตกรรม

keyboard_arrow_up