Skip to main content

การอนุรักษ์และเชิดชูอัตตลักษณ์ของกรุงเทพเมืองฟ้าอมร

7 - 9 พฤศจิกายน 2557
ผู้เข้าชม 16,443

โดย นายอมร กิจเชวงกุล
รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร-(กทม.)


ในวันนี้ผมมาแลกเปลี่ยนความรู้กันในเรื่องของกรุงเทพมหานคร ทั้งนี้ ได้ทราบว่า กทม.ได้จับคู่กับแม่ฮ่องสอน สิ่งที่กทม.มีตรงกับแม่ฮ่องสอน คือ เรื่องขนบธรรมเนียมประเพณี และกล่าวต่อว่า ในอีก 2 วันผู้เข้าร่วมการเสวนาจะได้พบกทม.ในมุมมองของวัฒนธรรม คือ วัด เช่น วัดเรืองรอง วัดไตรมิตรวิทยา สิ่งที่ท่านได้พบนี้ คิดว่าจะเป็นจุดที่สามารถนำไปแลกเปลี่ยนหรืออาจจะเป็นจุดเริ่มต้นสำหรับการเป็นยุวทูตความดีได้ เวลานี้ กทม.มีนโยบายสนับสนุนและส่งเสริมการเปิดโอกาสให้กับเด็กที่ขาดความพร้อมได้รู้จักกทม.อย่างลึกซึ้ง โดยได้ร่วมมือกับหน่วยงานและองค์กรเยาวชน จัดทำโครงการขึ้นทุกปี ปีละ 1 รุ่น สำหรับงานของผมในกทม.เกี่ยวข้องกับเรื่อง การขนส่ง การคมนาคม การฟื้นฟูวัฒนธรรม การผังเมือง ในกรณีของการเปิดโอกาสให้กับเด็กเมื่อปีที่แล้ว ผมรู้สึกประทับใจกับกลุ่มเด็กนักเรียนจากชายแดนภาคใต้ที่ขึ้นมาร่วมโครงการของเราเป็นอย่างมาก และพบว่าเด็กกลุ่มนี้ มีความจงรักภักดีสูง มีใจใฝ่รู้ และที่สำคัญคือ พวกเขาตระหนักรู้ว่า เขาเป็นคนไทย เห็นได้จาก การที่เขาเชื่อมั่นและภูมิใจในพระมหากษัตริย์ไทย วัฒนธรรมและประเพณีไทย เช่น วัดพระแก้ว พระบรมมหาราชวัง รวมทั้งโบราณสถานต่างๆ ของไทย โดยเรื่องของศาสนานั้นไม่เกี่ยว รวมทั้งแนวคิดของเขาในการกลับมาสู่การปรองดองและสามัคคี

กรุงเทพมหานคร ประกอบด้วย 50 เขต แต่ละเขตมีความเชี่ยวชาญในเรื่องที่แตกต่างกัน ปีนี้ รู้สึกดีใจที่ได้จับคู่กับโรงเรียนในจังหวัดแม่ฮ่องสอน เชื่อว่าเขตพระนครและเขตดุสิตจะสามารถดูแลท่านที่มาจากแม่ฮ่องสอนได้ โดยเฉพาะในเรื่องของประเพณีและวัฒนธรรม

ทุกวันนี้ กทม.อาจได้เปรียบในเรื่องของงบประมาณและการใกล้ชิดกับผู้บริหาร ทำให้มีข้อมูลที่ใกล้เคียงความเป็นจริงและชัดเจน ดังนั้น การส่งข้อมูลจึงทำได้ง่ายกว่า แต่สำหรับจังหวัดที่อยู่ไกลออกไป เช่น แม่ฮ่องสอน การรับส่งข้อมูลอาจจะล่าช้ากว่า ทำให้เด็กที่อยู่ในอาณัติของท่านไม่มีโอกาสได้รับทราบและรับรู้ข้อมูลด้วย ดังนั้น นโยบายของท่านผู้ว่ากทม. มรว.สุขุมพันธ์ บริพัตร จึงมีความชัดเจนในการที่จะขยายขีดความสามารถของจังหวัดต่างๆ ที่ขาดโอกาสในเรื่องเหล่านี้ เช่น การศึกษา การพาณิชย์ เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม ให้เข้ามากลมเกลียวกันมากที่สุด

กทม.เอง เราเชื่อมั่นว่าไม่ว่าจะอีกกี่รุ่น เราก็พร้อมที่จะสนับสนุนโครงการนี้แม้ว่าการอุดหนุนงบประมาณจากรัฐบาลของเราจะน้อยกว่าบางจังหวัด แต่เรามีบุคลากรที่หลากหลาย ดังนั้น สิ่งแรกที่เราคิดคือ การให้ความรู้ การให้โอกาส ดังเช่น นโยบายหลักของท่านผู้ว่าฯ ที่เน้นการให้โอกาสเด็กไทยก่อน การให้เด็กเข้าใจในความเป็นไทย ให้มีความจงรักภักดีต่อชาติบ้านเมือง เป็นต้น

การที่เราจะให้เด็กไทยรู้อัตตลักษณ์ของตัวเอง รักแผ่นดิน รักประเทศชาติ และมีความสามัคคี นั้นเป็นเรื่องสำคัญ ผู้ใหญ่หลายท่านก็ยังไม่สามารถทำได้ ทั้งนี้ ขอยืนยันว่า การสร้างความปรองดองในผู้ใหญ่และการส่งเสริมความสามัคคีในเด็ก เป็นเรื่องที่คล้ายกันและเป็นเรื่องสำคัญสำหรับคนส่วนใหญ่ แต่ด้วยทรัพยากรและงบประมาณที่จำกัด เราจึงอยากสนับสนุนเด็กให้มีความสามัคคี รักแผ่นดิน รักประเทศชาติ และกลายเป็นคนไทยที่ดีในอนาคตก่อน

ในเรื่องการเสริมสร้างศักยภาพของกทม. เพื่อเป็นเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมนั้น กทม. เพียงจังหวัดเดียวไม่สามารถจัดการเองได้ การจับคู่ กทม.กับแม่ฮ่องสอนจึงเป็นโอกาสที่ดี เพราะเรามีสิ่งที่ยึดถือที่เหมือนกันคือเรื่องของคนดี เรื่องของธรรมะ การทำให้เด็กไทยรักกัน การรู้รักสามัคคี และการหวงแหนแผ่นดิน

สิ่งที่กทม.พยายามผลักดันหรือพยายามสร้างอัตตลักษณ์ในปัจจุบันคือการฝ่าฝันกับสิ่งที่เราคุ้นเคยกันมานานหลายปี กทม.ได้รับการโหวตให้เป็นเมืองที่น่าท่องเที่ยวจากหนังสือและเว็บไซด์ต่างๆ สาเหตุประการแรก คือ การมีที่พักอาศัยและโรงแรมที่สะอาด กว้างขวาง คุ้มค่ากับราคา ประการที่สอง คือ “Street food” หรือ การมีอาหารขายตามท้องถนน เพราะสามารถหาทานได้ทุกที่ทุกเวลา และประการสุดท้าย คือ การมีสถานที่ ชอปปิ้งที่สามารถหาซื้อสินค้าที่มีชิ้นเดียวในโลกได้ ในที่นี้ หมายถึง สินค้าที่ผลิตโดย SMEs และถูกโปรโมทไปทั่วโลกผ่านเครือข่ายอินเตอร์เนต ซึ่งสามารถพบเห็นการวางขายได้ตาม Platinum และ JJ market ของประเทศไทยประเด็นสำคัญที่จะกล่าวคือ สิ่งเหล่านี้ไม่ได้มาจากการบริหารจัดการจากด้านบนเลย แต่เป็นเพราะเรามีการเปิดทางสนับสนุนโครงการที่ช่วยกันนำเสนอ เช่น การที่กรุงเทพฯ ร่วมมือกับสื่อทำโฆษณาและ “road show” ทั่วโลกเพื่อหาตลาด เพื่อดึงนักท่องเที่ยว และเพื่อขายภาพลักษณ์ของกทม. และจังหวัดต่างๆของไทย ทั้งนี้ การท่องเที่ยวไม่ได้ขีดวงอยู่ที่กทม.เพียงอย่างเดียว แต่เรากำลังพยายามที่จะขยายไปยังจังหวัดอื่นๆ ด้วย สำหรับการเตรียมความพร้อมในการเป็นประชาคมอาเซียน เราได้ร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านเพื่อเชิญชวนนักท่องเที่ยวให้มาประเทศไทยและภูมิภาคให้เพิ่มขึ้น เพื่อให้ประเทศไทยและอาเซียนใหม่มีความยั่งยืนและสามารถต่อสู้กับภัยเศรษฐกิจไทยได้

ในเรื่องเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของกรุงเทพมหานคร ผมขอแยกออกเป็น 2 มุม คือ มุมของความทันสมัยและทุนนิยม อีกมุมคือมุมของสิทธิและมนุษย์ภาคปกติ ตนขอยืนยันว่า เอกลักษณ์ของกทม.ในวันนี้ ต้องมองและวัดจากคุณค่าของมนุษย์ คนจะต้องมีคุณภาพ ต้องมองจากมุมของมนุษย์ภาคปกติเป็นสำคัญ วัฒนธรรมเป็นเรื่องของวิถีชุมชน แต่คำว่าวิถีชุมชนนี้ คนมักจะสับสนกับเรื่องของความเจริญกับความทันสมัย ซึ่งสองสิ่งนี้ต่างกัน หากเราแยกไม่ออก เราจะไม่จะสามารถผูกหรือจับคู่กับจังหวัดใดๆได้เลย ปัจจุบันนี้ กรุงเทพฯได้พยายามอย่างยิ่งที่จะเหนี่ยวโยง วัฒนธรรมของกรุงเทพฯ เอาไว้ ซึ่งวันนี้เพิ่งได้คุยกับสำนักผังเมือง เราคุยกันถึงเรื่องการฟื้นฟูเขตวัฒนธรรมเมืองเพื่อให้คงอยู่ เพื่อให้รู้และเข้าใจถึงวัฒนธรรมที่แท้จริงของคนกทม. การที่จะทำให้วิถีเมืองอยู่ได้นั้น สำคัญคือ ผู้บริหารเมืองต้องเป็นแรงผลักดัน และสังคมเมืองจะต้องมีความรู้ ความเข้าใจ และความรักในท้องถิ่น อย่างเช่นที่พวกเรากำลังพยายามทำกันอยู่นี้ คือการทำให้เด็กรักพื้นที่ตนเอง รักจังหวัดตนเอง



* ถอดความจากการบรรยายพิเศษในการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ โครงการเหย้า – เยือน เพื่อพลังแผ่นดิน ปี 2557 วันที่ 7 พฤศจิกายน 2557 ที่กระทรวงการต่างประเทศ

ต่อยอดความรู้ สู่การปฏิบัติ

คำกล่าวเปิดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ โครงการต้นกล้าความดี ตามวิถีพอเพียง

พลังความรู้นำเยาวชนสู่ยุค 4.0 4.0 เป็นคำที่สะท้อนของวิวัฒนาการ จากยุคที่เราเคยล่าสัตว์ ทำการเกษตร บัดนี้ก็มาถึงยุคที่เราจะต้องสร้างและขับเคลื่อนสังคมด้วยนวัตกรรม

ผู้บริหารกับการบ่มเพาะเยาวชนให้เป็นต้นกล้าความดี ในวิถีพอเพียง

พลังความรู้นำเยาวชนสู่ยุค 4.0 4.0 เป็นคำที่สะท้อนของวิวัฒนาการ จากยุคที่เราเคยล่าสัตว์ ทำการเกษตร บัดนี้ก็มาถึงยุคที่เราจะต้องสร้างและขับเคลื่อนสังคมด้วยนวัตกรรม

พลังความรู้นำเยาวชนสู่ยุค 4.0

พลังความรู้นำเยาวชนสู่ยุค 4.0 4.0 เป็นคำที่สะท้อนของวิวัฒนาการ จากยุคที่เราเคยล่าสัตว์ ทำการเกษตร บัดนี้ก็มาถึงยุคที่เราจะต้องสร้างและขับเคลื่อนสังคมด้วยนวัตกรรม

keyboard_arrow_up