Skip to main content

พลังความรู้นำเยาวชนสู่ยุค 4.0

ผู้เข้าชม 4,069

นายธานี ทองภักดี
รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ


พลังความรู้นำเยาวชนสู่ยุค 4.0 4.0 เป็นคำที่สะท้อนของวิวัฒนาการ จากยุคที่เราเคยล่าสัตว์ ทำการเกษตร บัดนี้ก็มาถึงยุคที่เราจะต้องสร้างและขับเคลื่อนสังคมด้วยนวัตกรรม

โลก 4 ยุค ของ Alvin Toffler

ยุค 1.0 จากการล่าสัตว์สู่การเพาะปลูก / การปศุสัตว์ / การรวมกลุ่ม
ยุค 2.0 จากสังคมเกษตรกรรมสู่สังคมอุตสาหกรรม
ยุค 3.0 ยุคเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ และระบบโทรคมนาคม เชื่อมโยงไปสู่ชุมชนและเครือข่ายรูปแบบใหม่
ยุค 4.0 ยุคของการสร้างและขับเคลื่อนสังคมด้วยนวัตกรรม

คนไทย 4.0 ที่เราสัมผัสได้

คนไทย 4.0 คนแรกที่นึกถึงคือ คุณวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เพราะท่านเป็น ผู้ที่มีทั้งความเป็นไทยและสากล มีความรู้ทั้งด้านเศรษฐศาสตร์และพุทธศาสนา แต่อาจจะเป็นตัวอย่างที่ไกลตัวพวกเราไปสักนิดจึงขอยกตัวอย่างคนไทย 4.0 ที่เราสัมผัสได้ เราเห็น เข้าใจ และนึกยกย่อง ท่านแรกคือ พี่ตูนกับคุณก้อย ที่ร่วมกันสร้างนวัตกรรมแห่งการสร้างจิตสำนึกของสังคม ทั้งเรื่องสุขภาพ และทำงานเพื่อสังคม

คุณวีระศักดิ์ วงษ์สมบัติ และคุณธนิดา ขุนนา แห่ง Clean Farm สด สะอาด รสชาติดี ปลอดภัย คุณวีระศักดิ์ วงษ์สมบัติ อดีตเลขาอาชีวะศึกษา ปัจจุบันเป็นเกษตรกรสมาร์ท ฟาร์มเมอร์ (Smart farmer) ทำคลีนฟาร์ม (Clean farm) อยู่ที่หนองแซง สระบุรี ท่านปลูกผักด้วยวิธีที่ได้ทดลองค้นคว้า ใช้ดิน แต่ปลอดสารพิษทุกขั้นตอน ร่วมกับ คุณธนิดา ขุนนา ซึ่งตั้งใจว่าต่อไปนี้ จะต้องทำสิ่งที่ดีที่สุด คือการปลูกผักปลอดสารพิษ


ผอ. มนูญ ชัยสูงเนิน ยกเครื่องโรงเรียนขนาดเล็ก สู่โรงเรียนเพื่อชีวิตและการทำงาน 

ผอ. มนูญ ไชยสูงเนิน ผู้บริหารโรงเรียนบ้านเขาขวาง จ.ลพบุรี ที่สามารถพลิกโฉมโรงเรียน ซึ่งเต็มไปด้วยเด็กยากจนพ่อแม่หย่าร้างนี้ ให้กลายเป็นโรงเรียนที่เด็กทุกคนสามารถมีอาชีพ มีงานทำได้ โดยตั้งนโยบายว่าอนุบาล 2 เพาะถั่วงอก อนุบาล 1 เรียนรู้โลกในโรงเรียน อนุบาล 3 เพาะเมล็ดทานตะวัน ป.1 เลี้ยงไส้เดือน ป.2 เลี้ยงเห็ด ทุกชั้นป. มีอาชีพทำ และทำอย่างต่อเนื่อง ดีจนได้รับเลือกเข้าโครงการกองทุนการศึกษาในพระราชดำริ และได้เป็นโรงเรียนต้นแบบ นำเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงอยู่ 1 ใน 10 ของโรงเรียนขนาดเล็กของ สพฐ.


ซึ่งบุคคลเหล่านี้มีคุณสมบัติร่วมกัน คือ สร้างนวัตกรรมเพื่อสังคม เพราะแต่ละคน

  • กล้าคิดต่าง กล้าเสี่ยง กล้าปรับเปลี่ยน

กล้าคิดต่าง กล้าเสี่ยง กล้าปรับเปลี่พี่ตูน จบนิติศาสตร์ เกียรตินิยมอันดับ 1 แต่กลายเป็นนักร้อง และนักวิ่งได้ อาจารย์จิรัฏฐ์ จบพลศึกษา ก็เปลี่ยนมาเป็นครูสอนไอทีได้ ส่วน ผอ. มนูญ ก็ได้นำประสบการณ์จากการเป็นรอง ผอ. โรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย ปทุมธานี มาเปลี่ยนโรงเรียนขนาดเล็ก ให้เป็นโรงเรียนเพื่อชีวิต และสังคม บนพื้นฐานของวิทยาศาสตร์ ทุกคนกล้าคิดต่าง กล้าเสี่ยง กล้าปรับเปลี่ยนทั้งสิ้น

  • มุ่งมั่นบนเส้นทางชีวิตที่เลือกเอง

ผอ.มนูญ เล่าว่า ในยุคสมัยที่ท่านอยากทำให้โรงเรียนมีการสอนเรื่องการทำงานให้กับเด็ก ซึ่งขัดกับนโยบายของกระทรวงฯ ที่ต้องติวเพื่อให้ได้คะแนน O-net สูง ก็ต้องแอบทำ แต่ทุกคนก็มีความมุ่งมั่น

  • เรียนรู้จากทุกแหล่ง ทุกรูปแบบ ทุกมิติ ประยุกต์ ทดลองเพื่อเชื่อมโยงสู่โจทย์จริง / ชีวิตจริง

การเรียนรู้ ต้องเรียนรู้จากทุกแหล่ง ทุกรูปแบบ และทุกมิติ เพราะในโลกแห่งความเป็นจริง ทุกอย่างต้องบูรณาการเป็นหนึ่งเดียวกันทั้งหมด ทั้งนี้พลังความรู้จะต้องมีการทดลอง มีการนำไปปฏิบัติจริง ถึงจะค้นพบความรู้ที่ลงตัวที่สุด

  • เห็นคุณค่า และสร้างแนวร่วมเพื่อขับเคลื่อนสู่เป้าหมาย

คุณตูน เลือกรับบริจาคจากประชาชนทุกคน ไม่เฉพาะกลุ่มเศรษฐี แสดงให้เห็นว่าเขาเห็นคุณค่าของเงิน ทุกบาท ไม่ว่าจะมากหรือน้อย เมื่อเห็นคุณค่า ก็สามารถสร้างแนวร่วมได้

  • เป็นแบบอย่างทางคุณธรรม จริยธรรม

คนที่จะปรับเปลี่ยนโลก ถ้าไม่เป็นต้นแบบทางจริยธรรม ทำให้คนมีความรู้สึกว่าทำเพื่อตัวเอง ก็คงจะไปได้ไม่ไกล

  • ใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือสู่เป้าหมาย

ปัจจุบันหากบอกว่าจะทำคนไทย 4.0 ก็มักจะขอลงทุนเพื่อของแพง ๆ เป็นอย่างแรก แต่คนเหล่านี้เขาใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือสื่อสาร หาความรู้ ทดลอง และแลกเปลี่ยนความคิด ไม่ได้เอาเทคโนโลยีเป็นเป้าหมาย 

สิ่งที่ทุกคนมีเหมือนกัน ก็คือ เทิดทูนและยึดถือพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพล อดุลยเดชเป็นทั้งต้นแบบ และแรงบันดาลใจ

ดิฉันขออัญเชิญพระราชดำรัส รับสั่งในงานวันเด็ก ปี 2530 ความว่า

“เด็ก ๆ นอกจากจะต้องเรียนความรู้แล้ว ยังต้องหัดทำการงานและทำความดีด้วย เพราะการทำงาน จะช่วยให้มีความสามารถ มีความขยัน อดทน พึ่งตนเองได้ และการทำดีนั้นจะช่วยให้มีความสุข ความเจริญ ทั้งป้องกันตนไว้ไม่ให้ตกต่ำ”

(พระบรมราโชวาทพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพล อดุลยเดชพระราชทานในวันเด็ก ประจำปี 2530)


การศึกษาจะช่วยสร้างคน 4.0 ได้อย่างไร

1. ส่งเสริมให้ค้นพบความถนัด ให้เห็นคุณค่าของตนเอง และมีความมั่นใจในศักยภาพของตนเอง

เด็กต้องการทั้งความรัก และความรู้ ซึ่งสิ่งสำคัญที่อยากจะฝากคุณครูมากที่สุดคือ ทำอย่างไรให้เด็กเห็นคุณค่าของตนเอง รักในแง่ที่เข้าใจข้อดีและข้อจำกัดของเขา แม้เขาจะแต่งตัวไม่สะอาด มาสาย หรือเรียนไม่เก่ง เพราะฐานะที่ยากจน หรือต้องช่วยพ่อแม่เลี้ยงดูน้อง แต่เราจะทำอย่างไรให้เขามีความภาคภูมิใจในตัวเอง ในรายงานของ PISA กล่าวว่า เด็กส่วนใหญ่ที่ได้คะแนนสูง เป็นเด็กที่มาจากครอบครัวดีเกือบทั้งหมด แต่มีเด็กกลุ่มหนึ่งที่ทนแดดทนฝน จนแสนจน ทุกข์ทรมานทุกอย่าง แต่สู้ชีวิต กลับคืนเป็นคนเก่งได้ เด็กไทยประมาณ ร้อยละ 14 มาจากครอบครัวยากจน และสอบได้คะแนนดี ซึ่งโรงเรียนมีส่วนสำคัญในการทำให้เด็กที่มาจากมืดไปสู่ความสว่าง ขณะเดียวกันเด็กที่มาจากความสว่างแล้วไปมืดก็มีมาก ดังนั้นโรงเรียนต้องเห็นคุณค่า และทำให้เด็กมั่นใจในศักยภาพของตัวเอง

การที่ครูเพ่งเล็งไปที่เรื่องเล็กน้อยอย่างผมที่รุงรัง ลายมือที่ไม่สวย เขียนมา 70 แถวสวย แต่ผิดตัวเดียวเห็นทันที จะทำให้เด็กขาดความมั่นใจในตัวเอง ไม่กล้าคิด ไม่กล้าทำ ไม่กล้าตัดสินใจ โรงเรียนเป็นสถานที่แห่งเดียวที่เด็กจะฝึกความล้มเหลว ฝึกคิดอะไรที่แปลกๆ แต่ต้องมีความเป็นมิตร อบอุ่น และปลอดภัย เพื่อให้เด็กมีโอกาสเรียนรู้จากโรงเรียนก่อนไปเผชิญโลกแห่งความเป็นจริง

2. ฝึกให้กล้าคิด กล้าทำ กล้าตัดสินใจ เรียนรู้จากความผิดพลาด ล้มเหลว สามารถพึ่งตนเองและช่วยเหลือคนอื่นได้

ตัวอย่างจากลูกชายที่ไปเรียนต่างประเทศ ต้องปรับแก้งานกว่า 10 ครั้ง เพราะใส่ความคิดของคนอื่นมากเกินไป การสอนของเขาคือ จะให้เด็กไปศึกษางานของคนอื่น แล้วนำมาโต้แย้ง โดยมีจุดยืนของตัวเอง

3. ส่งเสริมให้เรียนรู้จากทุกแหล่ง รู้จักเลือกปรับประยุกต์ ทดลอง พัฒนา เพื่อนำไปใช้ในชีวิตจริง

ระดับความคิดของเด็กจะพัฒนาไปอีกมาก หากได้ฝึกให้ลงมือปฏิบัติจริงทั้งหมด อย่างน้อย ภาคการศึกษาละหนึ่งเรื่อง เพราะการมีโจทย์จริง มีผลได้ผลเสียกับกิจการที่เด็กทำ จะทำให้เด็กได้ฝึกคิด และแก้ปัญหาด้วยตนเอง สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในอนาคตต่อไปได้

4. ฝึกให้ลงมือปฏิบัติจริง สร้างสรรค์ผลงานจริง แก้ปัญหาจริง ใช้ประโยชน์จริง ต่อยอดจาก “กิจกรรม” ไปสู่ “กิจการ”

เด็กประถมที่ประโคนชัย ของท่าน ผอ.วิเชียร สอนดิฉันว่า ที่นี่เราไม่ทำกิจกรรม เราทำกิจการ กิจกรรมก็ทำเล่น ๆ ทำเพื่อให้รู้ว่าทำอย่างไร แต่กิจการต้องทำให้มีรายได้ ไม่ขาดทุน เมื่อไม่ได้เป็นแค่กิจกรรม เด็กก็จะมีความอดทน และไปสู่ความสำเร็จได้

5. เห็นคุณค่าผู้อื่น ทำงานเป็นทีม

6. ทำอย่างต่อเนื่องและเชื่อมโยงระหว่างบ้าน โรงเรียน ชุมชน สถานที่ทำงาน

7. มีความขยัน ความรับผิดชอบ ความมุ่งมั่นอดทน ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค มั่นคงในความดีงาม

เด็กตัดสินใจไม่เหมือนเรา แต่เมื่อเขาตัดสินใจแล้ว ก็ควรได้รับการสนับสนุน ดูแลประคับประคอง เพื่อส่งเสริมให้เขามีความมั่นใจในตัวเอง

8. สืบสานและน้อมนำหลักการทรงงานสู่การปฏิบัติ

ขอหยิบยกข้อความในหนังสือ ท่ามกลางประชาชน โดยคุณวินทร์ เลียววาริณ นักเขียนรางวัลซีไรต์ ซึ่งข้อความที่ดิฉันคิดว่ากินใจมากที่สุดคือ ครูแห่งแผ่นดิน

…สอนด้วยหัวใจและจิตวิญญาณเต็มเปี่ยมของครู

…ทุ่มเทเวลาทั้งชีวิต คิดวิธีปั้นแต่งคนไม่รู้เป็นคนมีปัญญา

…สอนวิธีใช้เข็มทิศแก่คนหลงทางให้รู้จุดหมายของชีวิต

…ไม่จับปลาให้ แต่สอนวิธีจับปลา

…ไม่สอนแค่ความรู้ แต่สอนจริยธรรมไว้กำกับความรู้

…ไม่เทศนาให้ทำดี แต่ทำดีให้ดู

ชั้นเรียนของพระองค์ คือ แผ่นดินทุกตารางนิ้วของประเทศ นักเรียนของพระองค์ คือ ปวงประชา
รอยขีดบนกระดานดำ คือ รอยพระบาทที่ย่ำไปทุกทิศทุกทาง ภาคเรียน คือ ทั้งรัชกาล

ทรงสอนทุกวิชา วัดผลการเรียนของนักเรียนโดยไม่ย่อท้อ ถ้านักเรียนทำคะแนนไม่ดี ครูแห่งแผ่นดิน ก็ทรงสอนซ้ำแล้วซ้ำอีก

สิ่งที่ทรงสอนราษฎรมิเพียงแค่วิธีทำมาหากิน แต่คือการโอบรัดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เป็นเข็มทิศ ชี้ทาง สู่ชีวิตที่เรียบแต่ยั่งยืน ง่ายแต่งดงาม

ตลอดพระชนม์ชีพของพระองค์ ทรงสอนโดยไม่หยุด แสวงหาความรู้ใหม่ ๆ ประดิษฐ์คิดค้นสิ่งต่าง ๆ ตลอดเวลา เพื่อหาคำตอบที่ดีที่สุดแล้วถ่ายทอดให้ผู้ไม่รู้กับผู้ด้อยโอกาสทุกคนโดยเท่าเทียมกัน

ทรงเป็นแสงไต้แห่งความรู้ เป็นดวงดาวแห่งความหวัง เป็นแม่น้ำแห่งความเมตตา
ขอให้ผู้บริหารและครูในโรงเรียนยุวทูตแห่งความดี นำไปเป็นตัวอย่าง เชื่อว่าจะประสบความสำเร็จ ทุกประการ

* ถอดความจากการบรรยายพิเศษในการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ โครงการต้นกล้าความดี ตามวิถีพอเพียง ปี 2561
วันที่ 17 มกราคม 2561 ที่โรงแรมนารายณ์ กรุงเทพฯ

ต่อยอดความรู้ สู่การปฏิบัติ

คำกล่าวเปิดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ โครงการต้นกล้าความดี ตามวิถีพอเพียง

พลังความรู้นำเยาวชนสู่ยุค 4.0 4.0 เป็นคำที่สะท้อนของวิวัฒนาการ จากยุคที่เราเคยล่าสัตว์ ทำการเกษตร บัดนี้ก็มาถึงยุคที่เราจะต้องสร้างและขับเคลื่อนสังคมด้วยนวัตกรรม

ผู้บริหารกับการบ่มเพาะเยาวชนให้เป็นต้นกล้าความดี ในวิถีพอเพียง

พลังความรู้นำเยาวชนสู่ยุค 4.0 4.0 เป็นคำที่สะท้อนของวิวัฒนาการ จากยุคที่เราเคยล่าสัตว์ ทำการเกษตร บัดนี้ก็มาถึงยุคที่เราจะต้องสร้างและขับเคลื่อนสังคมด้วยนวัตกรรม

บทบาทของกระทรวงฯในการพัฒนาเยาวชนยุวทูตความดีให้ก้าวไกลสู่สากล

นับตั้งแต่ที่กระทรวงการต่างประเทศ ริเริ่มโครงการยุวทูตความดีเฉลิมพระเกียรติ ในปี พ.ศ. 2542 เป็นเวลา 18 ปีแล้วที่กระทรวงฯได้ให้การสนับสนุนอย่างแข็งขันแก่โครงการฯ และมูลนิธิยุวทูตความดีที่ก่อตั้งในปี พ.ศ. 2550 ด้วยมุ่งหวังพัฒนาเยาวชนไทยให้เป็นคนดี มีคุณธรรม ตามแนวพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีคุณภาพ และรอบรู้ ด้วยการปลูกจิตสำนึก ฝึกจิตอาสา พัฒนาโลกทัศน์

keyboard_arrow_up