Skip to main content

ภาษา: เครื่องมือในการสื่อสารข้ามกาลเวลา

7 - 9 พฤศจิกายน 2557
ผู้เข้าชม 10,343

โดย ดร.ธีรวัฒน์ ภูมิจิตร
ผอ.สถาบันการต่างประเทศเทววงศ์วโรปการ


ขอเริ่มด้วยการกล่าวถึงประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ประเทศที่สวยงามร่มรื่น มีเอกลักษณ์มากมาย มีเสน่ห์ทำให้นักท่องเที่ยวหลงใหล มีธงเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัสที่มีความสมบูรณ์แบบ มีชื่อเดิมว่าสมาพันธรัฐสวิสหากย้อนกลับไปในอดีต ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ได้เกิดขึ้นราว ๆ สมัยสุโขทัย เดิมประกอบด้วยรัฐเล็ก ๆ 3 รัฐ ตั้งอยู่กลางประเทศและแวดล้อมไปด้วยประเทศเพื่อนบ้านที่มีอำนาจด้านทหาร ด้วยเหตุนี้คนสวิสจึงต้องจับกลุ่มกันเพื่อความอยู่รอด กระทั่งปีค.ศ.1848 รัฐสวิตเซอร์แลนด์ 26 รัฐได้รวมตัวกันเป็น 1 ประเทศ เรียกว่า สมาพันธรัฐสวิสเซอร์แลนด์หากแต่ว่ารัฐแต่ละรัฐยังคงมีธงเป็นของตัวเอง หลักการ 3 ประการหลักของชาวสวิสในการดำรงชาติ คือ เข้มแข็ง หลากหลาย และสันติสุข สิ่งที่น่าแปลกใจ คือ หลักการเหล่านี้กลับพ้องกับแนวทางในการปฏิบัติของไทย นั่นคือ มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ภาษาประจำชาติของสวิตฯ นั้นมี 4 ภาษา บางเมืองใช้มากกว่า 2 ภาษา อย่างไรก็ตาม ภาษาของเขานั้นก็ยังคงเข้มแข็ง ด้วยการมีกลไกที่ดูแล คุ้มครอง พัฒนา และเอาใจใส่ภาษามีกฎหมายระดับสมาพันธรัฐที่ดูแลภาษาถิ่น ภาษาประจำชาติ และภาษาราชการ มีกฎหมายรองลงมาที่มอบอำนาจให้รัฐทั้ง 26 รัฐดูแลพัฒนาภาษาของตน สวิตเซอร์แลนด์ มี 3 กระทรวงระดับประเทศ คือกระทรวงกลาโหม กระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงการคลัง ที่เหลือเป็นกระทรวงระดับรัฐ เช่น กระทรวงศึกษาธิการ ทำหน้าที่กำหนดนโยบายของตนเอง ไม่ขึ้นกับรัฐบาลกลางสำหรับระบบการศึกษาของสวิตเซอร์แลนด์นั้น นักเรียนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาลจนถึงระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ต้องเรียนภาษาแม่ให้แข็งก่อน ด้วยเชื่อว่า ภาษาแม่จะต้องไม่ถูกเจือจางโดยภาษาอื่นและถ้าภาษาแม่ไม่แข็งแล้ว กลไกในสมอง การรับรู้ และการมีเหตุผลก็จะไม่แข็งด้วย สิ่งเหล่านี้มีผลกระทบต่อกัน

สำหรับประเทศไทย เรามีภาษาที่หลากหลายกว่า 100 ภาษา ทั้งที่เรียกว่าภาษาถิ่นและภาษาชนกลุ่มน้อย ภาษาถิ่นเรามี ภาษากลาง ภาษาเหนือ ภาษาอีสาน และภาษาใต้ ภาษาถิ่นรองหรือภาษาชนกลุ่มน้อย เรามีภาษามอญ ภาษาไทยขเมร ภาษาชายขอบ ภาษาบนภูเขาสูง เป็นต้น ประเด็นคือ ภาษาถิ่นเหล่านี้ได้รับการดูแล ปกป้องมากแค่ไหน สำหรับตน คิดว่าไม่และเห็นว่า ภาษาเหล่านี้ปัจจุบันถูกละเลยมาก อย่างไรก็ตาม ปัญหานี้ไม่ได้พบเฉพาะแค่ในประเทศไทย มนุษยชาติก็กำลังประสบปัญหาเดียวกันทั้งสิ้น เห็นได้จากที่ โลกเราซึ่งมีภาษามากกว่า 6,000 ภาษา ร้อยละ 90 นี้กำลังหายสาบสูญไปเนื่องจากไม่ได้รับการปกป้อง คุ้มครอง ดูแล และพัฒนาอย่างต่อเนื่อง



นับตั้งแต่อดีตเป็นต้นมา การสร้างศัพท์ขึ้นมาใหม่นั้นเป็นเรื่องปกติแต่ไม่นิยมทำเพราะยากลำบาก ดังนั้น ศัพท์ส่วนใหญ่จึงสร้างมาจากการหยิบยืมคำอื่นมาประดิษฐ์ใช้ ปัญหาภาษาถิ่นของไทยคือ การแปรเปลี่ยน ตัวอย่างเช่น ปัจจุบันนี้ คนเหนือพูดคำเมืองด้วยสำเนียงกลาง มีการผสมศัพท์ ไวยากรณ์และสำเนียงกลางกับภาษาคำเมืองที่สำคัญ มีการเขียนภาษาถิ่นเป็นตัวเขียนน้อยมากและแม้เรายังมีอักษรล้านนาใช้อยู่แต่ก็ขาดการพัฒนา เผยแพร่ และส่งเสริมอย่างจริงจัง การสูญเสียภาษาถิ่นและวัฒนธรรมท้องถิ่นของประเทศไทยนั้น เริ่มขึ้นในช่วงที่มีแนวคิดการสร้างชาติในระยะเวลา 100 ปีที่ผ่านมา เพราะเราถือว่าภาษาเป็นเครื่องผูกพันมนุษย์ให้เข้ากันได้ดีที่สุด ดังนั้น ภาษาจึงถูกใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างชาติ มีคนกล่าวว่า การสูญเสียภาษาถิ่น คือการสูญเสียระบบความรู้ ความคิด โลกทัศน์ ภูมิปัญญาด้านต่าง ๆ รวมทั้งอัตลักษณ์ วัฒนธรรม ชาติพันธุ์ ตลอดจนเครื่องมือสื่อสาร และสื่อการเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพสำหรับคำถามที่ว่าคนไทยเรียนภาษาอังกฤษ 10 – 20 ปีทำไมถึงไม่เก่ง หากโยงเข้ากับตัวอย่างของประเทศสวิตเซอร์แลนด์ แล้ว สาเหตุหลักคือ ไทยไม่มีการปูพื้นภาษาแม่หรือภาษาถิ่นของเราให้แน่นก่อนการต่อยอดสู่ภาษาอื่น ในปัจจุบัน เด็กต้องเรียนภาษาต่างประเทศหลายภาษาไปพร้อมกัน ดังนั้น จึงขอฝากให้ดูด้วยว่า เราควรจะมีนโยบานด้านการเรียนการสอนภาษาต่างประเทศอย่างไร เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลที่มากขึ้น 

ผมอยากจะเล่าถึงครอบครัวสองครอบครัวที่จังหวัดเชียงใหม่ ครอบครัวแรกมีบุตรที่สามารถพูดได้ถึง 4 ภาษา ด้วยอายุเพียง 7 ขวบ หนึ่งในภาษานั้นคือ ภาษาคำเมือง โดยคุณพ่อและคุณแม่ส่งมีการเสริมให้เด็กมีความภาคภูมิใจ ไม่กลัวที่จะใช้ภาษาสำหรับครอบครัวที่ 2 เด็กสามารถพูดได้ 4 ภาษาเช่นกัน แต่ไม่กล้าพูด เวลาอยู่บ้านเด็กจะพูดภาษาไทยใหญ่ เวลาออกมานอกบ้านจะพูดคำเมือง และเวลามาเจอผมจะพูดภาษากลาง สาเหตุที่เด็กคนที่ 2 ไม่กล้าที่จะพูดนี้ ส่วนตัวคิดว่า ปัญหานี้เกิดจากการไม่มีความมั่นใจตัวเองและการไม่มีความภูมิใจในภาษาแม่ของตน เพราะคนที่พูดภาษาไทยใหญ่ในเชียงใหม่นั้นมักจะถูกดูแคลน เยาะเย้ยด้วยสถานภาพทางเศรษฐกิจ เช่นนี้แล้ว หากเด็กไม่มีความภูมิใจในภาษาแม่ของตน อัตลักษณ์ก็จะไม่เกิด ระบบความคิดต่างๆก็จะไม่พัฒนา เด็กกลุ่มนี้หากดูภายนอกเหมือนปิดกั้นตัวเอง แต่ไม่ใช่ เรื่องนี้เป็นเรื่องของ “กำแพงทางภาษา” ซึ่งมีความซับซ้อนมาก และผมเชื่อว่าตัวอย่างนี้ไม่ใช่กรณีพิเศษ ปัจจุบันนี้ แทบทุกพื้นที่ของไทยมีชนกลุ่มน้อยหรือผู้อพยพจากประเทศเพื่อนบ้าน ดังนั้น ที่เราต้องรู้คือ เราควรจะจัดการบริหารการเรียนการสอนภาษาอย่างไร

วัฒนธรรมนั้นเป็นตัวตั้ง ทุกชุมชนท้องถิ่นและประเทศต้องมีเกียรติและศักดิ์ศรีเสมอกันเพื่อให้เกิดการฟื้นฟูภาษาถิ่น ปัจจุบันเริ่มมีการกลับมาสู่กระแสนี้แล้วและการกลับมานี้ก็กลับมาพร้อมกับกระแสประชาธิปไตยและกระแสสิทธิมนุษยชนด้วย เพราะฉะนั้น คำถามคือว่า เราจะบริหารจัดการโรงเรียนของเราอย่างไรให้มีความสมดุลและมีความสามารถในการสร้างบุคลากรของชาติที่เข้มแข็ง มีสติปัญญา และสามารถอยู่ในโลกแห่งความซับซ้อนของความหลากหลายในวัฒนธรรมและภาษาได้ จากแนวคิดเข้มแข็ง หลากหลาย และสันติสุขของประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ก็กลับมาสู่แนวคิดของความมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืนของเรา นี้เป็นสิ่งที่เราไม่สามารถหลีกเลี่ยงหรือหลีกหนีได้ในเรื่องของการบริหารจัดการอย่างไรให้มีประสิทธิภาพภายใต้กระแสโลกาภิวัฒน์

สำหรับการเรียนภาษาถิ่นจะเรียนแต่เพียงในชั้นเรียนไม่ได้ เพราะไม่มีพลวัต ต้องเรียนควบคู่ไปกับวัฒนธรรม ถ้าชุมชนไหนสามารถรื้อฟื้นวัฒนธรรมพื้นบ้านของตัวเองได้ ภาษาถิ่นก็จะกลับมาผมเพิ่งไปจุลกฐินที่เชียงใหม่มา ทุกกระบวนการมีศัพท์คำเมืองทั้งสิ้น เทคนิคในการทอผ้าที่จะต้องถ่ายทอดรุ่นต่อรุ่นก็เช่นกัน หากท่านรื้อฟื้นวัฒนธรรมพื้นบ้านได้ดีเท่าไหร่ ภาษาถิ่นของท่านก็จะเข้มแข็งขึ้นเท่านั้น เช่นเดียวกับกรณีวัฒนธรรมที่เข้มแข็งของชาวสวิส เมื่อรวมวัฒนธรรมที่เข้มแข็งเข้ากับความสามารถในการเข้าถึงวัฒนธรรมที่หลากหลายได้ เหล่านี้ก็จะนำไปสู่สันติสุข สำหรับประเทศไทยแม้ว่าเราจะมีวัฒนธรรมที่หลากหลาย มีความแตกต่าง มีความเหลื่อมล้ำในสถาบันการศึกษา ความพร้อมของครูอาจารย์และนักเรียน เราต้องช่วยกับคิด ช่วยกันหาทางออก ให้อนาคตของประเทศของเราไปด้วยกัน

ในบริบทของอาเซียน การเรียนการสอนภาษาปัจจุบันมุ่งไปสู่ระบบการสอนแบบทวิภาษา ระบบทวิภาคีนี้หมายถึงระบบการเรียนการสอนภาษากลางควบคู่ไปกับภาษาอังกฤษ หลายประเทศมองว่าระบบนี้จะก่อให้เกิดวิกฤตแก่ภาษาถิ่นตน ดังนั้น สำหรับประเทศไทย ขอฝากให้ดูด้วยว่า นโยบายภาษาของเราอยู่ที่ไหน เราจะสร้างคนอย่างไร จะออกแบบหลักสูตรอย่างไรให้ภาษากลางและภาษาถิ่นไม่ถูกทำลาย และจะสร้างเด็กอย่างไรให้มีความภาคภูมิใจในอัตลักษณ์ ในการเป็นชาวพื้นเมืองของตน เพื่อเด็กจะได้เติบโตขึ้นมาเป็นชาวไทยและเป็นมนุษย์ในยุคโลกาภิวัฒน์อย่างสมบูรณ์แบบ


* ถอดความจากการบรรยายพิเศษในการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ โครงการเหย้า – เยือน เพื่อพลังแผ่นดิน ปี 2557
วันที่ 8 พฤศจิกายน 2557 ที่กระทรวงการต่างประเทศ

ต่อยอดความรู้ สู่การปฏิบัติ

คำกล่าวเปิดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ โครงการต้นกล้าความดี ตามวิถีพอเพียง

พลังความรู้นำเยาวชนสู่ยุค 4.0 4.0 เป็นคำที่สะท้อนของวิวัฒนาการ จากยุคที่เราเคยล่าสัตว์ ทำการเกษตร บัดนี้ก็มาถึงยุคที่เราจะต้องสร้างและขับเคลื่อนสังคมด้วยนวัตกรรม

ผู้บริหารกับการบ่มเพาะเยาวชนให้เป็นต้นกล้าความดี ในวิถีพอเพียง

พลังความรู้นำเยาวชนสู่ยุค 4.0 4.0 เป็นคำที่สะท้อนของวิวัฒนาการ จากยุคที่เราเคยล่าสัตว์ ทำการเกษตร บัดนี้ก็มาถึงยุคที่เราจะต้องสร้างและขับเคลื่อนสังคมด้วยนวัตกรรม

พลังความรู้นำเยาวชนสู่ยุค 4.0

พลังความรู้นำเยาวชนสู่ยุค 4.0 4.0 เป็นคำที่สะท้อนของวิวัฒนาการ จากยุคที่เราเคยล่าสัตว์ ทำการเกษตร บัดนี้ก็มาถึงยุคที่เราจะต้องสร้างและขับเคลื่อนสังคมด้วยนวัตกรรม

keyboard_arrow_up