Skip to main content

เรียนรู้อย่างมีความสุข รักท้องถิ่นชุมชน ด้วยจิตอาสา

7 - 9 พฤศจิกายน 2557
ผู้เข้าชม 7,288

โดย นายมีชัย วีระไวทยะ
นายกสมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน


เส้นทางสายใหม่ของการศึกษาไทยในชนบทนั้น จำเป็นต้องปฏิรูป การให้จะต้องให้ด้วยใจ การรู้นั้นดี แต่ต้องเข้าใจด้วย ปัจจุบันนี้ สิ่งที่ต้องปฏิรูปมากที่สุดคือคนไทย อุปนิสัยคนไทย รูปแบบศึกษา โรงเรียนต้องสร้างคนดี ต้องสร้างมนุษย์ที่สมบูรณ์

เรื่องระบบการศึกษาไทยนั้น ต้องปฏิรูปหลายอย่าง ทุกโรงเรียนต้องมีนวัตกรรม ต้องมีแนวคิดริเริ่ม ต้องคิดนอกกรอบ ปัจจุบัน โรงเรียนขาดการกระตุ้นให้คิดนอกกรอบ ไม่มีการเตรียมนักเรียนไปสู่ชีวิตและการงานในวันพรุ่งนี้ ถ้าเราจะทำให้ดีกว่านี้เราต้องปรับปรุงพัฒนา เปลี่ยนวิธีการเรียนรู้จากการท่องจำไปสู่การค้นคว้า โปรดสังเกตว่า คนส่วนใหญ่ของสังคมไม่มีโอกาสได้เข้าเรียนโรงเรียนดีๆ โรงเรียนที่มีการพัฒนาอะไรใหม่ๆ เพราะโรงเรียนเหล่านี้มีใช้ค่าใช้จ่ายสูง ดังนั้น เราจึงได้สร้างโรงเรียนที่เปิดโอกาสให้คนที่ขาดโอกาสในชนบทให้เข้าศึกษาได้ เป็นโรงเรียนที่สร้างนักธุรกิจหรือนักกิจการเพื่อสังคมและนักพัฒนาชนบท ให้คนชนบทอยู่ในชนบทต่อไปด้วยความสง่างาม ดูแลครอบครัวได้ มีรายได้ที่ดีเพราะในระบบการศึกษาปัจจุบันนั้น มีแต่ดึงเด็กให้ออกจากชุมชนจากแหล่งที่มาของตน ทำให้เด็กทิ้งบ้านเมือง เช่นว่า เมื่อมีครอบครัวที่อื่นแล้ว ก็ส่งลูกมาอยู่กับตายายที่ต่างจังหวัด ปัจจุบัน มีเด็กไทย 7 ล้านคนประสบปัญหานี้ สิ่งเหล่านี้ ก่อให้เกิดปัญหาสังคมอื่นตามมาด้วย เช่น การทำลายสิทธิมนุษยชนของเด็กที่จะมีแม่ เป็นต้น ดังนั้น ระบบนี้จึงเป็นส่วนหนึ่งที่เราต้องฏิรูป

ในการปฏิรูประบบการศึกษา เราควรให้โรงเรียนมีอิสระให้การจัดการในทางระบบที่มากขึ้น ให้โรงเรียนเป็นนิติบุคคล เพื่อจะได้มีอิสระในการช่วยคิด ช่วยทำผู้อำนวยการโรงเรียนและครูต้องมีคุณภาพมีผลงาน สำหรับโรงเรียนมีชัยพัฒนา อ.ลำปลายมาศ จ.บุรีรัมย์ เรามีการเพิ่มเติมหลักสูตรนอกเหนือจากที่กระทรวงกำหนด เราให้เด็กซ้ำชั้นได้เมื่อความสามารถของไม่ถึงเกณฑ์ เราเน้นการสร้างคนดีให้คนบริหารจัดการเป็น เน้นให้คนมีความสามารถในการทำธุรกิจ เนื่องจากเวลานี้ คนไทยจำนวนร้อยละ 30 เท่านั้นที่มีนายจ้าง ดังนั้น เราต้องสอนให้เด็กมีทักษะชีวิตและทักษะอาชีพให้ทำธุรกิจและให้เลี้ยงตัวเองได้ให้คนชนบทเรียนแล้วสามารถอยู่ในชนบทต่อไปได้ ปัจจุบันนี้ โรงเรียนเราสอนตั้งแต่ ม.1 – ม.6 การกระตุ้นให้เด็กมีความคิดริเริ่มเป็นจุดสำคัญที่สุด ให้เด็กสามารถหาทางเลือกเองเป็น ขณะเดียวกัน โรงเรียนก็ต้องปรับปรุงและเพิ่มบทบาทของตัวเองต้องเป็นแหล่งเรียนรู้ชีวิตและเป็นศูนย์กลางของการพัฒนา

ในการที่จะเปลี่ยนแปลง เราต้องคิดนอกกรอบ คิดหมุนเวียนไปจากเดิม ต้องมี “Democratic education” หรือ การเรียนในลักษณะประชาธิปไตย ดังเช่นโรงเรียนมีชัยพัฒนา เพราะนักเรียนมีส่วนสำคัญมากในการบริหารโรงเรียน ตนอยากให้โรงเรียนทุกโรงเรียนเปิดโอกาสให้เด็กมีส่วนร่วมในการตัดสินใจต่างๆ เช่น การเลือกครู การเลือกนักเรียนใหม่ การจัดซื้อสินค้าต่างๆภายในโรงเรียนการบริหารโรงเรียน การต้อนรับและให้ความรู้คณะผู้มาเยือน การทำธุรกิจโดยสามารถขอเงินกู้จากทางโรงเรียนได้ การตอบข้อซักถามจากทางผู้ปกครอง เป็นต้น เพราะสิ่งเหล่านี้จะสอนให้เด็กตั้งคำถามเป็น บริหารเป็น ช่วยตนเองได้ มีระเบียบวินัย รวมทั้งส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างรุ่นพี่ – รุ่นน้อง เด็กผู้ปกครองและชุมชน โดยมองว่า เด็กวันนี้ต้องเป็นผู้ใหญ่ในวันนี้เลย นอกจากนี้ โรงเรียนมีชัยพัฒนายังจัดให้มีชั่วโมงสำหรับเด็กในการตั้งคำถามแล้วให้ครูตอบและการให้ครูให้คำตอบแต่นักเรียนเป็นผู้ตั้งคำถาม เราให้เด็กทุกคนนั่งรถเข็นเดือนละหนึ่งครั้ง เพื่อที่จะเข้าใจความลำบากของผู้พิการและมีจิตสาธารณะในการช่วยเหลือ ในส่วนนี้ เราได้ทำจดหมายส่งไปทั่วโลกเพื่อขอรถเข็นเพื่อส่งไปยังโรงเรียนต่างๆแล้วด้วย เราอนุญาตให้เด็กใช้โทรศัพท์ได้เพียง 1 ชั่วโมง และเด็กต้องเขียนจดหมาย 3 ฉบับส่งให้ครอบครัว เพื่อน และตนเอง เพื่อฝึกทักษะในการใช้ระดับภาษาที่ต่างกัน เราต้องทำให้เกิดการบูรณาการให้มากที่สุด

โรงเรียนมีชัยพัฒนา มีศูนย์เรียนรู้ในเรื่องของ “solar enegy” ที่ทุกคนสามารถมาเรียนรู้ได้ มีการบูรณาการโดยการนำ “solarenegy” มาแปลงเป็นไฟฟ้าใช้ในโรงเรียน ใช้แทนน้ำมันเครื่องยนต์ สำหรับค่าเล่าเรียนนักเรียนจะเป็นผู้จ่ายเองครึ่งหนึ่งผู้ปกครองจะจ่ายอีกครึ่งหนึ่ง เพราะนักเรียนเป็นผู้ได้ประโยชน์จากการเรียน สำหรับผู้ปกครองเองต้องทำประโยชน์ให้สังคมเป็นการทดแทนโดยการปลูกต้นไม้ 400 ต้นต่อปี แทนค่าเทอมครึ่งหนึ่งส่วนเด็กก็ต้องทำความดีทดแทนค่าเทอมอีกครึ่งหนึ่งเช่นกัน โดยในทุกวันจันทร์เด็กจะต้องออกไปช่วยเหลือชุมชน ไปเป็นผู้กระตุ้นคนในหมู่บ้านให้ทำความดี นอกจากนี้แล้ว ยังต้องปลูกต้นไม้อีก 100 ต้นและเดินทางไปสอนน้องในหมู่บ้าน โดยรวมแล้วประมาณ 2 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ เราสอนให้เด็กทุกคนต้องเล่นดนตรีเป็น ในที่นี้ คือ อูคูเลเล่และร้องเพลง เพื่อความสนุกสนาน เพื่อทำเป็นธุรกิจ และเพื่อนำไปแสดงและถ่ายทอดตามสถานที่ต่าง ๆ เราสอนให้เด็กรู้จักบริจากหนังสือและของให้โรงเรียนที่ยากไร้ โดยที่เราจะมีรถทำความดีรับ – ส่งอยู่ตลอด เรามีสระว่ายน้ำเพื่อสอนเด็กทั้งภายในและภายนอกโรงเรียน ทั้งนี้ ทุกคนต้องมีหลักฐานทำความดีมาด้วยถึงจะใช้สระได้สิ่งเหล่านี้จะสอนให้เด็กรู้จักแบ่งปันและเป็นคนดี

เรื่องการขจัดความยากจนของผู้ปกครองและนักเรียนก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่โรงเรียนให้ความสำคัญเรามีการสอนผู้ปกครองและเด็กผ่านการเรียนรู้ธุรกิจการเกษตรและธุรกิจไม้ดอกไม้ประดับเพื่อนำไปประกอบอาชีพ เช่น การปลูกพืชในถุงบนดินลูกรังหรือปูนซีเมนต์ มะนาวนอกฤดู ดอกไม้ฝรั่ง ผักไร้ดิน ผักคะน้า การใช้ทรายปลูกแคนตาลูป เป็นต้นโรงเรียนเราสอนให้เด็กเป็นนายจ้างมากกว่าลูกจ้าง เรามีการส่งนักเรียนไปเรียนกับบริษัทไมโครซอฟท์และอีเกีย ซึ่งสำหรับบริษัทอีเกียนั้น เขายินดีรับเด็กนักเรียนเข้าทำงานในฝ่ายจัดการหลังจากที่เด็กมีประสบณ์การทำงานในเมืองไทยแล้ว 2 ปี และสวีเดนอีก 2 ปี เราได้ช่วยตั้งหน่วยธุรกิจเพื่อสังคมให้แก่โรงเรียนต่างๆ โดยเงินสนับสนุนจากภาคธุรกิจ เราเรียกหน่วยธุรกิจนี้ว่า “แปลงสาธิตเพื่อขจัดความยากจน” ทั้งหมดนี้คือการพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชน โดยมีโรงเรียนเป็นศูนย์กลาง

ในที่สุดนี้ ผมขอย้ำว่า กระทรวงศึกษาธิการต้องมีการเปลี่ยนแปลง มีการปฏิรูป กระจายอำนาจออกไปสู่โรงเรียนให้มากขึ้น และโรงเรียนเองก็ต้องมีการบูรณาการ คือต้องสอนทั้งเด็ก ผู้ใหญ่และชุมชนด้วย ต้องสอนให้เด็กมีทั้งทักษะอาชีพและทักษะชีวิต ในเมื่อชาติเป็นของพวกเราทุกคน เราจึงต้องช่วยชาติ ตัวท่านเองก็เป็นเจ้าของประเทศ ดังนั้นเราจึงต้องช่วยกัน

* ถอดความจากการบรรยายพิเศษในการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ โครงการเหย้า – เยือน เพื่อพลังแผ่นดิน ปี 2557 วันที่ 7 พฤศจิกายน 2557 ที่กระทรวงการต่างประเทศ

ต่อยอดความรู้ สู่การปฏิบัติ

คำกล่าวเปิดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ โครงการต้นกล้าความดี ตามวิถีพอเพียง

พลังความรู้นำเยาวชนสู่ยุค 4.0 4.0 เป็นคำที่สะท้อนของวิวัฒนาการ จากยุคที่เราเคยล่าสัตว์ ทำการเกษตร บัดนี้ก็มาถึงยุคที่เราจะต้องสร้างและขับเคลื่อนสังคมด้วยนวัตกรรม

ผู้บริหารกับการบ่มเพาะเยาวชนให้เป็นต้นกล้าความดี ในวิถีพอเพียง

พลังความรู้นำเยาวชนสู่ยุค 4.0 4.0 เป็นคำที่สะท้อนของวิวัฒนาการ จากยุคที่เราเคยล่าสัตว์ ทำการเกษตร บัดนี้ก็มาถึงยุคที่เราจะต้องสร้างและขับเคลื่อนสังคมด้วยนวัตกรรม

พลังความรู้นำเยาวชนสู่ยุค 4.0

พลังความรู้นำเยาวชนสู่ยุค 4.0 4.0 เป็นคำที่สะท้อนของวิวัฒนาการ จากยุคที่เราเคยล่าสัตว์ ทำการเกษตร บัดนี้ก็มาถึงยุคที่เราจะต้องสร้างและขับเคลื่อนสังคมด้วยนวัตกรรม

keyboard_arrow_up