Skip to main content

โครงการผู้อุปถัมภ์ระหว่างสถานเอกอัครราชทูตฮังการีประจำประเทศไทยกับโรงเรียนอนุบาลสิงห์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี

ผู้เข้าชม 178

กรมยุโรป กระทรวงการต่างประเทศ ร่วมกับ มูลนิธิยุวทูตความดี ดำเนินโครงการผู้อุปถัมภ์ ระหว่างสถานเอกอัครราชทูตฮังการีประจำประเทศไทย กับโรงเรียนอนุบาลสิงห์บุรี โดยมี นายอสิ ม้ามณี อธิบดีกรมยุโรป และนางสาวจันทร์ทิพา ภู่ตระกูล ผู้อำนวยการมูลนิธิยุวทูตความดี และนางศรีรัตน์ บัวใหญ่ ผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาลสิงห์บุรี ร่วมให้การต้อนรับ ดร.ชานโดร์ ชีโปช (H.E. Dr. Sàndor Sipos) เอกอัครราชทูตฮังการีประจำประเทศไทย และเป็นประธานร่วมในพิธีเปิดงาน เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2566

โรงเรียนอนุบาลสิงห์บุรี เป็นโรงเรียนระดับประถมศึกษาชั้นนำของจังหวัด มีนักเรียน 2,007 คน โดยเข้าร่วมเป็นโรงเรียนในเครือข่ายมูลนิธิยุวทูตความดี ตั้งแต่ปี 2561 เข้าร่วมในโครงการค่ายอบรม โครงการรณรงค์เสริมสร้างต้นกล้าความดี และโครงการพัฒนาโลกทัศน์ มีนักเรียน ครู และผู้อำนวยการโรงเรียนได้รับคัดเลือกไปสานสัมพันธ์สร้างมิตรไมตรีกับเยาวชนนานาประเทศ อาทิ กัมพูชา สิงคโปร์ และรัสเซีย

กิจกรรมโครงการผู้อุปถัมภ์ของโรงเรียนอนุบาลสิงห์บุรี ประกอบด้วย การจัดสัปดาห์แห่งการเรียนรู้ เพื่อส่งเสริมความรอบรู้เกี่ยวกับประเทศผู้อุปถัมภ์และจัดการเยี่ยมเยือนเพื่อเสริมสร้างมิตรไมตรีระหว่างโรงเรียนกับสถานเอกอัครราชทูตฯ โดยโรงเรียนได้ดำเนินการจัด กิจกรรมสัปดาห์ฮังการี (Hungary Week) ตั้งแต่วันที่ 20 – 30 พฤศจิกายน 2566 ทำให้นักเรียนโรงเรียนอนุบาลสิงห์บุรี ได้ทราบเกี่ยวกับประเทศฮังการี โดยเฉพาะในด้านสังคมและวัฒนธรรม ซึ่งฮังการีเป็นประเทศที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนานในยุโรป และมีความโดดเด่นในการคิดค้นสิ่งประดิษฐ์ต่าง ๆ โดยมีหลายสิ่งที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายที่ถูกคิดค้นโดยชาวฮังการี อาทิ รูบิค (Rubik’s cube) และวัคซีน mRNA ที่ใช้ป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 รวมทั้ง โซดา ปากกาลูกลื่น วิตามินซี และโปรแกรมไมโครซอฟท์เวิร์ด (Microsoft Word) ที่ใช้ในการเรียนการสอนและทำงานในปัจจุบัน

การจัด กิจกรรมวันฮังการี (วันที่ 30 พฤศจิกายน 2566) ในโครงการผู้อุปถัมภ์ฯ ยังนับเป็นโอกาสในการฉลองการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตไทย – ฮังการี ครบรอบ 50 ปี ด้วยความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นระหว่างไทยกับฮังการี ที่มีรากฐานจากความสัมพันธ์ที่ยาวนานระหว่างกันกว่า 154 ปี ตั้งแต่ก่อนที่ทั้งสองฝ่ายจะสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกัน โดยเริ่มตั้งแต่ การลงนามในหนังสือสัญญาไมตรี การค้า และการเดินเรือระหว่างราชอาณาจักรสยามกับจักรวรรดิออสเตรีย – ฮังการี เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2412 และต่อมาเมื่อปี พ.ศ.2440 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ได้เสด็จพระราชดำเนินเยือนจักรวรรดิออสเตรีย – ฮังการี โดยในระหว่างการเสด็จประพาสยุโรปครั้งแรกเป็นเวลาทั้งหมด 5 วัน และได้เสด็จพระราชดำเนินเยือนกรุงบูดาเปสต์ เมืองเกอเดอเลอะ (Gödöllö) และเมืองบาโบลนะ (Bàbolna) ซึ่งทั้งหมดเป็นรากฐานของการแลกเปลี่ยนระหว่างชาวไทยและชาวฮังการีที่มีเรื่อยมา

การเยี่ยมเยือนโรงเรียนครั้งนี้ เอกอัครราชทูตฮังการีได้แสดงความชื่นชมความสามารถของนักเรียน ในการร่วมการตอบปัญหาเกี่ยวกับประเทศฮังการีอย่างแข็งขัน รวมทั้งชื่นชอบ การจัดนิทรรศการของนักเรียนในแต่ละ ชั้นปี เกี่ยวกับฮังการีในทุกมิติ ทั้งศิลปวัฒนธรรม และสถานที่สำคัญ คู่ขนานไปกับกิจกรรมเชิงปฏิบัติร่วมกันระหว่างไทย – ฮังการี เกี่ยวกับการแสดงนาฏศิลป์ การสาธิตอาหาร หัตถกรรมของดีเมืองสิงห์บุรี (การปั้นไหสี่หู) รวมทั้งการร่วมเล่นกีฬาเทคบอลและปิงปอง ระหว่างโรงเรียนกับสถานเอกอัครราชทูตฯ 

โครงการดังกล่าวนับเป็นการเสริมสร้างความสัมพันธ์ฉันท์มิตรระหว่างโรงเรียนและสถานเอกอัครราชทูต ที่จะช่วยสานต่อความสัมพันธ์ไทย – ฮังการี ในระดับเยาวชนที่นับเป็นการเปิดโลกทัศน์ให้กับนักเรียนได้รับทราบถึงวัฒนธรรมที่หลากหลาย และซึมซับค่านิยมของการเคารพซึ่งกันและกัน ให้นักเรียนสามารถเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพและเข้าใจวัฒนธรรมต่างชาติที่หลากหลาย รวมทั้ง การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ในกิจกรรมที่จะมีร่วมกันอย่างต่อเนื่องต่อไปในอนาคต

โครงการผู้อุปถัมภ์

ค่ายอบรม รักษ์โลก รักแผ่นดิน ปี 2566

มูลนิธิยุวทูตความดี ดำเนินโครงการต้นกล้าความดี ก้าวสู่สากล ปี 2566 จัดค่ายอบรม รักษ์โลก – รักแผ่นดิน ระหว่างวันที่ 25 เมษายน – 2 พฤษภาคม 2566 ที่อุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธร จังหวัดเพชรบุรี โดยมีเยาวชนยุวทูตฯ เข้าร่วม 102 คน ครู 25 คน รวม 127 คน จาก 25 โรงเรียน ใน 25 จังหวัด จากทั่วทุกภาคของประเทศ  ในวันที่ 25 เมษายน 2566 ผอ.จันทร์ทิพา ภู่ตระกูล ผู้อำนวยการมูลนิธิยุวทูตความดี กล่าวเปิดค่ายอบรม การเรียนรู้แบบ 360 องศา ที่รอบรู้ รอบด้าน เรียนรู้จากสิ่งที่ตั้งแสดงให้รู้ และเรียนรู้จากการออกไปยังพื้นที่โครงการที่เราสามารถเห็นได้กับตา ถึงสิ่งที่อยู่ตรงหน้า แล้วต้องเสริมความแข็งแกร่ง ด้วยการเพิ่มพูนทักษะทางด้านภาษาและเสริมสร้างทักษะความสามารถที่มีอยู่ในตัวนักเรียนและครู เมื่อเรียนรู้แล้ว ก็ต้องต่อยอดด้วย การเผยแพร่สิ่งที่เรียนรู้ให้เป็นวงกว้าง นำผลดีจากสิ่งที่ได้พบเห็นไปบอกต่อกับเพื่อนที่ไม่มีโอกาสได้มาเข้าค่าย  […]

โครงการผู้อุปถัมภ์ระหว่างสถานเอกอัครราชทูตอินเดียประจำประเทศไทยกับโรงเรียน อนุบาลราชบุรี จังหวัดราชบุรี

มูลนิธิยุวทูตความดีร่วมกับกรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลางและแอฟริกา กระทรวงการต่างประเทศ ดำเนินโครงการผู้อุปถัมภ์ ระหว่างสถานเอกอัครราชทูตอินเดียประจำประเทศไทย กับโรงเรียนอนุบาลราชบุรี โดยมี นางสาวดาว วิบูลย์พานิช รองอธิบดีกรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลางและแอฟริกา

โครงการผู้อุปถัมภ์ระหว่างสถานเอกอัครราชทูตมาเลเซียประจำประเทศไทยกับโรงเรียน พระตำหนักสวนกุหลาบ มหามงคล จังหวัดนครปฐม

มูลนิธิยุวทูตความดีร่วมกับกรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลางและแอฟริกา กระทรวงการต่างประเทศ ดำเนินโครงการผู้อุปถัมภ์ ระหว่างสถานเอกอัครราชทูตอินเดียประจำประเทศไทย กับโรงเรียนอนุบาลราชบุรี โดยมี นางสาวดาว วิบูลย์พานิช รองอธิบดีกรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลางและแอฟริกา

keyboard_arrow_up