Skip to main content

ผู้บริหารกับการบ่มเพาะเยาวชนให้เป็นต้นกล้าความดี ในวิถีพอเพียง

ผู้เข้าชม 3,888

ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล
เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา


สิ่งที่ผมจะกล่าวนั้น ไม่ได้เกิดขึ้นมาจากสติปัญญาของผมหรอกนะครับ แต่เผอิญโชคดีที่มีโอกาสได้เรียนรู้สิ่งต่าง ๆ จากหลายแหล่ง หลายสถานที่ หลายบุคคล และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง จากบุคคลที่เป็นมหาปราชญ์ของแผ่นดิน ที่กระทรวงศึกษาก็ยังถวายคำว่า “ครูแห่งแผ่นดิน” คือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

ผมได้รับราชการในปี พ.ศ. 2512 เมื่อถึงปี พ.ศ. 2524 รัฐบาลก็เลือกผมไปถวายงานพระเจ้าอยู่หัว ท่านถามว่า มาช่วยฉันทำงานนี่ดีใจไหม ผมบอกกลุ้มใจพะยะค่ะ ท่านบอกทำไมพูดอย่างนั้น ทำไมกลุ้มใจ ใครเขาก็ดีใจกันทั้งนั้น กลุ้มใจเพราะผมจบรัฐศาสตร์การทูต วิชาการทูตไม่ได้สอนว่าจะบริหารน้ำ หรือฟื้นฟูป่าอย่างไร จะเอาหญ้าแฝกมาปลูกกันดินถล่ม หรืออย่างไร พระองค์ท่านรับสั่งว่า เท่านั้นหรือ ไม่เป็นไรหรอก ตอนฉันทำใหม่ ๆ ฉันก็ไม่รู้ เรื่องนี้เรียนกันได้ ฉันสอนเอง

นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2524 ผมจึงเป็นนักเรียนที่เดินตามพระองค์ท่าน แล้วเป็นการศึกษาที่ยาวนานที่สุดในชีวิต ผมเรียนกับท่าน 35 ปี และไม่มีทีท่าว่าจะจบด้วย แต่พระองค์ท่านหยุดสอนเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2559

เมื่อผมรับเชิญไปบรรยาย ผมเป็นเพียงผู้ถ่ายทอดเท่านั้น คือรับจากพระเจ้าอยู่หัวมา นำมาสรุป แล้วก็ถ่ายทอดออกไป ซึ่งเป็นสิ่งมหัศจรรย์ที่บุคคลคนเดียว สามารถเป็นผู้รอบรู้ ถึงขั้นจอมปราชญ์ และสอนทุกแง่ทุกมุมได้ ซึ่งเมื่อนึกย้อนไปว่าตลอดระยะเวลา 35 ปี ท่านสอนอะไรบ้าง ท่านให้อะไรกับเรา แรกเริ่มท่านไม่ได้สอนวิชาความรู้อะไรให้กับเรา สิ่งนั้นมาทีหลังแบบลงรายละเอียด ตอนนี้ผมสามารถพูดเรื่องบริหารน้ำ บริหารดิน บริหารอะไรก็พูดได้ทั้งนั้น แต่ก่อนอื่นนั้นท่านสอนให้เราเป็นคนดีก่อน

ครั้งแรกในปี พ.ศ.2524 รัฐบาลได้ตั้งหน่วยงานเกี่ยวกับน้ำขึ้นมาและให้ผมเป็นหัวหน้าหน่วยงานนั้น เข้าไปถวายงานวันแรกท่านก็สอนแล้ว ไม่ใช่การสอนเรื่องน้ำเรื่องท่า หรือเรื่องการบริหาร แต่ท่านรับสั่งว่า ขอขอบใจนะที่จะมาช่วยฉันทำงาน แต่ฉันขอบอกซะก่อน มาช่วยฉันทำงาน ฉันไม่มีอะไรจะให้ นอกจากความสุข ที่จะมีร่วมกันในการทำประโยชน์ให้กับผู้อื่น

ผมเริ่มบรรยายเกี่ยวกับพระเจ้าอยู่หัวเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ในปี พ.ศ. 2524 ตื่นเต้นมาก ผมพิจารณาดูทั้งหมด ดูฉลองพระองค์เป็นอย่างไร ใส่มา 20 ปี ฉลองพระบาทคู่ละ 400 บาท made in Thailand จ้องไปที่ข้อพระหัตถ์ อยากรู้พระเจ้าอยู่หัวของเราใช้นาฬิกาอะไร จ้องเสียจนกระทั่งท่านรู้พระองค์ อยากรู้หรือ อยากเห็นอันนี้ เอ้าดูซะ นาฬิกาของท่าน ณ วันนั้นผมวิ่งไปดูที่ร้าน 750 บาท เพราะท่านต้องการดูเวลา

เราจะครองแผ่นดินโดยธรรมเพื่อประโยชน์สุข ประโยชน์ของท่าน ณ จุดนั้นคือดูเวลา เมื่อ 750 บาท สามารถสนองความต้องการ ประโยชน์นั้นเกิดขึ้นได้ในราคาที่คุ้มที่สุดนั้น ก็ทรงใช้อย่างนั้น รองเท้า 400 บาท สามารถปฏิบัติภารกิจให้ท่านเดินทั่วประเทศได้ แล้วทำไมจะต้องจ่ายสามสี่พัน ตอนหลังถึงมาสรุปว่าเศรษฐกิจพอเพียงก็คืออย่างนี้

ฉะนั้น เศรษฐกิจพอเพียงคืออะไร ไม่ใช่การไปยกร่องแปลงผัก แต่เป็นเรื่องของหลักความคิด ใช้อะไรก็ใช้ด้วยเหตุด้วย อย่าใช้ความหลง ในการที่จะสร้างเด็กให้เป็นคนดี ก็ต้องขจัดความหลงของเขาเสียก่อน ความหลงนั้นมีอยู่ 5 ประการด้วยกัน ที่สังคมไทยยังไปไม่ได้ อยู่ในศาสตร์ที่ย่ำแย่ ก็เพราะ หลง โลภ โง่ โกง กัด หลงกระแส หลงการเมือง นำไปสู่ความโลภ ทุจริต คอร์รัปชั่นเต็มแผ่นดินไปหมด เมื่อมีหลง โลภ โง่ โกง กัด ก็ทะเลาะกัน เพราะผลประโยชน์ไม่พอที่จะแบ่งกันทุกคน จึงเกิดการแย่งชิงอำนาจ แย่งชิงผลประโยชน์

เรื่องการศึกษา เรื่องครู ท่านได้แนะนำมานานแล้ว แต่คนไทยชอบได้ยินพระเจ้าอยู่หัว แต่ไม่เคยฟังท่าน ชอบเห็นพระเจ้าอยู่หัว แต่ไม่เคยมอง การมอง คือต้องมองด้วยสติปัญญา พยายามให้เกิดความเข้าใจ อย่างที่พระองค์ท่านรับสั่งเรื่องการศึกษานั้นสำคัญมาก ผมเปิดพจนานุกรมดูคำว่าครู แปลว่าเป็นคนให้ความรู้ เป็นคนแนะนำสั่งสอน แต่เมื่อเปิดคำว่า teacher เขาใช้คำว่าผู้ช่วยให้นักเรียนไปค้นหาสิ่งต่าง ๆ จึงอยากให้ท่านคิดดูว่าความหมายไหนเราควรจะปฏิบัติ จะเอาแต่สอน ๆ แล้วให้นักเรียนเลียนแบบเท่านั้นหรือ พระเจ้าอยู่หัวทรงย้ำเน้นเรื่องการศึกษามาก เพราะการศึกษาเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างและพัฒนาความรู้ความคิด ความประพฤติ และคุณธรรมของบุคคล

ทุกประโยคทุกคำของพระเจ้าอยู่หัวต้องการการพิจารณา ท่านมีความรู้ทะลุปรุโปร่งทุกด้าน เพราะฉะนั้นการเรียนการสอน ท่านให้ทั้งความรู้ ความคิด ความประพฤติ และคุณธรรม สังคมและบ้านเมืองใดให้การศึกษา ที่ดีให้แก่เยาวชนอย่างครบถ้วน สังคมและบ้านเมืองนั้นก็จะมีพลเมืองที่มีคุณภาพ สามารถธำรงรักษาความเจริญ มั่นคงของประเทศชาติไว้และพัฒนาก้าวหน้าไปได้โดยตลอด

ฝ่ายบริหารการศึกษา ผู้ที่มีหน้าที่จัดการศึกษาทุกคนก็ถือว่าเป็นผู้มีความรับผิดชอบต่อบ้านเมือง อย่าไปดูที่ตำแหน่งว่าใหญ่โตหรือไม่ พระเจ้าอยู่หัวทรงรับสั่งว่า เราจะครองแผ่นดิน ท่านไม่บอกว่าเราจะปกครองแผ่นดิน ไม่แสดงถึงอำนาจ ความใหญ่โต ไม่มีอะไรบังคับท่าน นอกจากความรัก ความเมตตา และเหนือสิ่งใด คือความรับผิดชอบ พระเจ้าอยู่หัวมีความรับผิดชอบต่อชาติบ้านเมืองอย่างเต็มที่ ในการที่จะต้องปฏิบัติหน้าที่ให้เที่ยงตรง ถูกต้อง สมบูรณ์อย่างเต็มกำลัง จะประมาทหรือละเลยมิได้ ถ้าปฏิบัติให้ผิดพลาดบกพร่องไปด้วยประการใด ผลร้ายอาจจะเกิดขึ้นส่วนรวมประเทศชาติได้อย่างมากมาย อย่างพวกท่านเองหากทำไม่ดี ผลสะท้อนไม่ได้ตกอยู่กับท่านหรือกับนักเรียนของท่านเท่านั้น แต่ตกอยู่กับบ้านเมืองด้วย

ครู ผู้ที่เป็นครูบาอาจารย์นั้นใช่ว่าจะมีแต่ความรู้ทางวิชาการการสอนเพียงเท่านั้น ต้องรู้จักอบรมเด็กทั้งในด้านศีลธรรมจรรยาและวัฒนธรรม รวมทั้งให้มีความสำนึกรับผิดชอบ พระองค์ท่านจะเน้นคำว่ารับผิดชอบมาก เพราะคนเราถ้ารู้จักรับผิดชอบ ก็สามารถหลุดพ้นได้โดยง่าย วิธีการสอนก็เช่นกัน ท่านจะสังเกตได้ว่า ทุกอย่างจากมหาปราชญ์ของเรา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการประกอบอาชีพ วิทยาศาสตร์ หรืออื่นๆ ไม่ว่าจะสอนเด็กวัยใด ลักษณะใด ผู้สอนต้องลงมือประพฤติตนเป็นตัวอย่างตัวเองให้เห็นได้อยู่ตลอดเวลา โดยไม่ละเลยความประพฤติปฏิบัติที่ต้องการให้เกิดมีในตัวเด็กเป็นอันขาด เพราะเด็กมองเราอยู่ เหมือนเรามองพระเจ้าอยู่หัว เราทำอย่างไร เด็กก็ทำตาม เด็กจะเป็นผู้ได้รับช่วงทุกสิ่งทุกอย่างจากผู้ใหญ่ รวมทั้งภาระรับผิดชอบในการธำรงรักษาอิสรภาพและความสงบสุขของบ้านเมือง ดังนั้น เด็กทุกคนจึงสมควรและจำเป็นที่จะต้องได้รับการอบรมเลี้ยงดูอย่างถูกต้องและเหมาะสม ให้มีความสามารถสร้างสรรค์ประโยชน์ต่างๆ พร้อมกับฝึกหัดขัดเกลาความคิดจิตใจให้ปราณีต ให้มีศรัทธามั่นคงในคุณงามความดี มีความประพฤติเรียบร้อย สุจริต และมีปัญญาฉลาด แจ่มใสในเหตุในผล

นอกจากนี้ ท่านเน้นเรื่องความซื่อสัตย์ครับ ความซื่อสัตย์สุจริต เป็นพื้นฐานความดีที่เด็กๆ ต้องได้รับการฝึกอบรมให้เกิดขึ้น เพราะความดีก็เหมือนกีฬา ถ้าไม่ฝึกก็ไม่เกิด และต้องฝึกให้ปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอจนเกิดความเคยชิน เมื่อวิเคราะห์การสอนของพระองค์ท่าน จึงทราบว่าท่านเป็นครูที่สอนปัจจุบัน ให้จำอดีต และให้จินตนาการไปสู่อนาคต 3 ประโยคที่ท่านรับสั่งให้ปฏิบัติ คือ

1) มองทุกอย่างที่ฉันทำ การจะทำความดี ไม่ใช่ด้วยวาจาหรืออ่านหนังสือให้เกิดความดี เราต้องทำความดีให้เห็น เพราะฉะนั้น ท่านให้มองนะครับ ไม่ใช่ดูให้เห็นเฉยๆ ทำไมพระเจ้าอยู่หัวทำอย่างนั้น ทำไมพระเจ้าอยู่หัวทำอย่างนี้ หาคำตอบให้ได้ ทำไมท่านเสด็จไป แล้วนั่งกลางประชาชนที่ล้อมรอบ พร้อมกับควักแผนที่ออกมา พอมองอย่างที่ท่านรับสั่ง ถึงเข้าใจว่าท่านทำ public clearing พระองค์ท่านทรงนั่ง และรับสั่งว่าปัญหาที่เสนอมา ฉันไปคิดแล้วนะ มีทางออกอย่างนี้ๆ เอาไหม ใครมีข้อเสนอดีๆ ก็เสนอมาได้ ท่านทำ public clearing ด้วยการดูด้วยพระองค์เองทุกโครงการ สอบถามคนที่จะมีประโยชน์กับเสียประโยชน์ที่อยู่ตรงนั้น ถ้าไม่ยอม ไม่ตกลง ยังไม่เข้าใจ ก็จะยังไม่ทำ

2) จดทุกอย่างที่ฉันพูด จากคำสอนที่ว่า มองทุกอย่างที่ฉันทำ เมื่อเวลามันผ่านไปเราก็มักจะลืม เพราะฉะนั้นท่านให้จดทุกอย่างที่ท่านพูด เช่นเดียวกับนักเรียน นักศึกษาเมื่อฟังบรรยายแล้ว ก็ต้องจดบันทึกเพื่อเตือนความจำ แล้วทำไมพระองค์ท่านแขวนกล้องไว้ที่พระศอ ท่านใช้เพื่อช่วยเตือนความจำ ไปไหนก็ถ่ายรูปไว้ พอนึกถึงอะไร ท่านก็เอารูปมาให้ดู เพื่อว่าเมื่อเวลาผ่านไป แม้กระทั่งคนไม่เคยไปกับเรา ถ้าเราเอาสิ่งที่เราจดให้เขาอ่าน เขาก็จะเข้าใจและสามารถทำได้ ท่านสอนให้เหลืออะไรไว้ในอดีตด้วย

3) สรุปทุกอย่างที่ฉันคิด แต่ในทางปฏิบัติ พระองค์ท่านสรุปความคิดของพระองค์ให้แล้ว ฉันทำอย่างนี้นะ อีก 3 ปีข้างหน้าจะเกิดอย่างนี้นะ ความเปลี่ยนแปลงจะปรากฏอย่างนี้นะ อีก 5ปีข้างหน้าจะเกิดอย่างนี้ขึ้นนะ เตรียมการอย่างนี้ไว้รองรับด้วยนะ ทรงใช้จินตนาการ และวิสัยทัศน์ไปสู่อนาคต

ขอฝากครูทุกคนไว้ด้วยว่า ให้ปฏิบัติ 3 อย่างนี้ตามที่พระเจ้าอยู่หัวได้รับสั่งไว้ ทำทุกอย่างให้นักเรียนดู สอนนักเรียนให้บันทึกทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นประโยชน์ ให้เขาจำแต่สิ่งที่ดี ๆ มีสาระ และให้รู้จักใช้จินตนาการไปสู่อนาคตด้วย เพราะ โลกมีการเปลี่ยนแปลง เพราะฉะนั้นต้องจินตนาการให้ทันเวลา และต้องจินตนาการไปก่อนด้วย เราจะได้เป็นผู้นำ

ในเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ท่านสอนวิธีคิดคือ ทำสิ่งใดก็ให้พอประมาณ อย่าทำอะไรเกินตัว อย่าเกินความถนัด และอย่าเกินทุน เพราะฉะนั้นต้องทำ self assessment คือประเมินตัวเองก่อน หรือหากจะวางแผนพัฒนาประเทศ ก็ต้องทำ national assessment ก่อน บ้านเราทำการเกษตรเป็นหลัก แต่ปัจจุบันนี้หลายคนอยากเปลี่ยนเป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่ (Newly Industrialized Country: NICs) ถ้าอยากทำอุตสาหกรรมก็ควรทำอุตสาหกรรมเกษตร เพราะมหาเศรษฐีของประเทศไทยก็ร่ำรวยจากการเกษตร และอาหารทั้งสิ้น ยิ่งในในเวลานี้ที่อาหารคือสิ่งสำคัญที่สุดในโลก เพราะปัญหาประชากรล้นโลก

เราต้องใช้เหตุผลนำทาง และต้องมีภูมิคุ้มกันตลอดเวลา มี การบริหารความเสี่ยง (risk management) ที่ดี อย่าประมาท ทำอะไรก็ต้องระมัดระวัง รอบรู้ เพราะเราไม่ได้อยู่โดดเดี่ยว เราอยู่ร่วมกับชาวโลก ต้องตามเขาให้ทัน เราจะนำเขา จะร่วมมือกับเขาหรือจะแข่งกับเขา ก็ต้องเลือกให้ดี และสิ่งที่สำคัญคือความซื่อสัตย์สุจริต เพราะจุดหมายปลายทางของเราคือความสมดุล มั่นคง และยั่งยืน ซึ่งความยั่งยืนนั้น คือการที่ยุคเราสมัยเราอยู่ได้ และให้ลูกหลานเราอยู่ต่อได้ด้วย ไม่ใช่บริโภคจนป่าหมด น้ำหมด ภูเขาหมด ดินหมด แล้วลูกหลานจะเหลืออะไร ถ้าท่านถ่ายทอดทุกสิ่งทุกอย่างที่ผมบรรยายมา โดยนำเอาคำแนะนำ คำสั่งสอน คำชี้ทางสว่างของพระเจ้าอยู่หัวมาปฏิบัติแล้ว เชื่อมั่นได้เลยว่าผลสุดท้ายเราจะสามารถพัฒนาเด็ก และเยาวชนของเราให้เป็นคนดีได้

* ถอดความจากการบรรยายพิเศษในการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ โครงการต้นกล้าความดี ตามวิถีพอเพียง ปี 2561 วันที่ 17 มกราคม 2561 ที่โรงแรมนารายณ์ กรุงเทพฯ

ต่อยอดความรู้ สู่การปฏิบัติ

คำกล่าวเปิดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ โครงการต้นกล้าความดี ตามวิถีพอเพียง

พลังความรู้นำเยาวชนสู่ยุค 4.0 4.0 เป็นคำที่สะท้อนของวิวัฒนาการ จากยุคที่เราเคยล่าสัตว์ ทำการเกษตร บัดนี้ก็มาถึงยุคที่เราจะต้องสร้างและขับเคลื่อนสังคมด้วยนวัตกรรม

พลังความรู้นำเยาวชนสู่ยุค 4.0

พลังความรู้นำเยาวชนสู่ยุค 4.0 4.0 เป็นคำที่สะท้อนของวิวัฒนาการ จากยุคที่เราเคยล่าสัตว์ ทำการเกษตร บัดนี้ก็มาถึงยุคที่เราจะต้องสร้างและขับเคลื่อนสังคมด้วยนวัตกรรม

บทบาทของกระทรวงฯในการพัฒนาเยาวชนยุวทูตความดีให้ก้าวไกลสู่สากล

นับตั้งแต่ที่กระทรวงการต่างประเทศ ริเริ่มโครงการยุวทูตความดีเฉลิมพระเกียรติ ในปี พ.ศ. 2542 เป็นเวลา 18 ปีแล้วที่กระทรวงฯได้ให้การสนับสนุนอย่างแข็งขันแก่โครงการฯ และมูลนิธิยุวทูตความดีที่ก่อตั้งในปี พ.ศ. 2550 ด้วยมุ่งหวังพัฒนาเยาวชนไทยให้เป็นคนดี มีคุณธรรม ตามแนวพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีคุณภาพ และรอบรู้ ด้วยการปลูกจิตสำนึก ฝึกจิตอาสา พัฒนาโลกทัศน์

keyboard_arrow_up