Skip to main content

คณะยุวทูตความดี เยือนฟูกูโอกะ ประเทศญี่ปุ่น

16 - 28 ตุลาคม 2566
ผู้เข้าชม 289

มูลนิธิยุวทูตความดี ร่วมกับสถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองฟูกูโอกะ ดำเนินโครงการยุวทูตความดีแลกเปลี่ยนประสบการณ์เรียนรู้กับนักเรียนในฟูกูโอกะ  ระหว่างวันที่ 16 – 28 ตุลาคม 2566 คณะฯ จำนวน 6 คน ประกอบด้วย นักเรียน 5 คน ครู 1 คน คณะยุวทูตฯ มาจาก 6 โรงเรียน ใน 6 จังหวัดทั่วทุกภาคของประเทศ ระดับชั้น ป.5 – ป.6 อายุเฉลี่ย 11 – 12 ปี ได้รับการคัดเลือกจากค่ายอบรม ต้นกล้าความดี ก้าวสู่สากล ซึ่งจัดขึ้นที่อุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธร จังหวัดเพชรบุรี เมื่อเดือนเมษายน 2566

ในวันที่ 13 – 15 ตุลาคม 2566 มูลนิธิฯ ได้จัดอบรมเตรียมความพร้อมให้คณะก่อนเดินทาง โดยมีเจ้าหน้าที่การทูตจากกรมเอเชียตะวันออก ที่เคยได้ศึกษาและประจำการที่ประเทศญี่ปุ่น มาให้ความรู้ ประวัติศาสตร์ ความสัมพันธ์ไทย – ญี่ปุ่น อาหาร วัฒนธรรม และภาษา โดยมี ผอ.จันทร์ทิพา ภู่ตระกูล ผู้อำนวยการมูลนิธิยุวทูตความดี ได้กล่าวให้โอวาทกับคณะยุวทูตฯ ความว่า “ให้มีความตั้งใจเรียนรู้ รู้จักสังเกตสิ่งรอบตัว รับฟังผู้อื่นและคิดตาม รู้จักตั้งคำถามเมื่อสงสัย และค้นคว้าหาคำตอบ พร้อมจดบันทึก และเผยแพร่แบ่งปันสิ่งที่เรียนรู้กับเพื่อน ๆ

ในการเยือนครั้งนี้ คณะฯ ได้เข้าเยี่ยมคารวะ กงสุลใหญ่ โสรัจ สุขถาวร ที่สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองฟูกูโอกะ และได้รับโอวาทจากท่านกงสุลใหญ่ ความว่า “การเตรียมความพร้อม ไม่ว่าจะเรื่องงานหรือเรื่องการเดินทาง จะต้องมีการศึกษาและเตรียมตัว และการทำงานเป็นทีมเป็นสิ่งสำคัญในการมาเยือนของคณะฯ ไม่ควรมีใครคนใดคนหนึ่งเก่งเกินไป แต่ทุก ๆ คน ควรก้าวไปพร้อม ๆ กัน และควรมีความตรงต่อเวลาในการปฏิบัติหน้าที่ ” 

ทั้งนี้ ท่านกงสุลใหญ่ ได้จัดปฐมนิเทศให้แก่คณะยุวทูตความดี โดยได้อธิบายสรุปโครงการฯ และบรรยายให้ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับภารกิจและกิจกรรมต่าง ๆ ของสถานกงสุลใหญ่ฯ รวมทั้งข้อมูลสถานที่สำคัญในภูมิภาคคิวชู พร้อมพาเยี่ยมชมการทำงานของข้าราชการสถานเกงสุลใหญ่ฯ ในแผนกต่าง ๆ ในโอกาสเดียวกันนี้ คณะยุวทูตความดีได้นำเสนอความเป็นมาของยุวทูตความดีฯ เป็นภาษาอังกฤษ พร้อมแสดงการร้องเพลงใน 3 ภาษา (ไทย อังกฤษ และญี่ปุ่น) รวมทั้งแสดงรำมโนราห์ ให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่สถานกงสุลใหญ่ฯ ได้รับชม 

นอกจากนี้คณะฯ ยังได้เข้าเยี่ยมคารวะ นายโยชิโนริ ยามากูชิ (Mr.Yoshinori Yamaguchi) ผู้ว่าราชการจังหวัดซากะ และ นายซือโบเนะ ชูซูเกะ (Mr.TSUBONE Shusuke) นายกเทศมนตรีเมืองโคเกะ

คณะยุวทูตฯ ได้สานสัมพันธ์แลกเปลี่ยนประสบการณ์เรียนรู้กับนักเรียนระดับมัธยมศึกษาใน จังหวัดฟูกูโอกะ และจังหวัดซากะ จำนวน 7 แห่ง ดังนี้ 

1. โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยฟูกูโอกะ ระดับประถมศึกษา (Fukuoka Primary School attached to University of Teacher Education Fukuoka) เป็นโรงเรียนเก่าแก่ ก่อตั้งมา 140 ปี  อดีตเป็นโรงเรียนสอนครู ปัจจุบันเปิดสอนนักเรียนในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 – 6 คณะฯ ได้เข้าร่วมเรียนในวิชาภาษาอังกฤษกับนักเรียนญี่ปุ่นระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 พร้อมรับประทานอาหารกลางวันและทำความสะอาดห้องเรียนร่วมกัน

2. โรงเรียนมัธยมต้นยูเซ็น (Yusen Junior High School) โรงเรียนก่อตั้งมา 67 ปี มีนักเรียน 1,000 คน เปิดสอนในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 – 3 ทางโรงเรียนได้จัดให้คณะแต่งกายในชุดยูกาตะ (Yukata) และเรียนรู้พิธีการชงชา และวัฒนธรรมการดื่มชาของญี่ปุ่นในบรรยากาศสวนญี่ปุ่น Yusen-tei

3. โรงเรียนมัธยมปลายเก็นไค (Fukuoka Prefectural Genkai High School) ก่อตั้งมา 36 ปี มีนักเรียนประมาณ 900 คน โรงเรียนนี้มีชื่อเสียงในด้านดนตรีญี่ปุ่น และการขี่ม้า  นักเรียนส่วนใหญ่เป็นคนในพื้นที่ และมีนักเรียนชาวต่างชาติเรียนในหลักสูตร international course ทางโรงเรียนส่งเสริมกิจกรรมของนักเรียน โดยนักเรียนมีส่วนร่วมในกิจกรรมอย่างสร้างสรรค์ มีเวทีให้นักเรียนได้แสดงออกในความสามารถพิเศษต่าง ๆ เช่น ตีกลอง ขี่ม้า ร้องเพลงประสานเสียง เล่นเปียโน ฟันดาบ เนื่องจากมีนักเรียนหลายเชื้อชาติ เช่น อินเดีย เนปาล จีน เรียนร่วมในโรงเรียน รูปแบบกิจกรรมจึงมีการผสมผสานวัฒนธรรม 

4. โรงเรียนประถมศึกษาโคกะฮิกาชิ (KOGA Higashi Elementary School) มีจำนวนนักเรียน 536 คน โดยเป็นนักเรียนที่มีบ้านพักอาศัยอยู่บริเวณรัศมีห่างจากโรงเรียน 2 กิโลเมตร คณะยุวทูตฯ ได้ร่วมกิจกรรมกับนักเรียนระดับประถมศึกษาปีที่ 3 โดยมีการมอบเมล็ดดอกทานตะวันที่น้อง ๆ เป็นคนปลูกซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความเป็นมิตร   ให้กับคณะ และมีการเยี่ยมชมห้องเรียนการเรียนการสอนของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ในวิชาสังคม 

5. โรงเรียนประถมศึกษานิชิโยชิโตมิ (Nishiyoshitomi primary school) โรงเรียนก่อตั้งมา 150 ปี ในปี พ.ศ. 2415 มีจำนวนนักเรียน 91 คน โรงเรียนแห่งนี้มีชื่อเสียงในการจัดดอกไม้ Ikebana โดยกิจกรรมแลกเปลี่ยนระหว่างกัน มีวิทยากรคุณโคบายาชิ นักจัดดอกไม้ชาวญี่ปุ่นที่มีชื่อเสียงมาสอนการจัดดอกไม้ Ikebana ให้กับคณะฯ 

6. โรงเรียนประถมศึกษาโทโมเอดะ (Tomoeda Elementary School)  ก่อตั้งมา 150 ปี เปิดสอนในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 – 6  มีจำนวนนักเรียน 99 คน โดยมีกิจกรรมแลกเปลี่ยนระหว่างกันคือ การเขียนพู่กันแบบญี่ปุ่น Shodo ร่วมกับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 

7. โรงเรียนเกษตรมัธยมปลายแห่งจังหวัดซากะ (Saga Agricultural High School) มีนักเรียน 360 คน เปิดสอน 3 แผนก คือ แผนกวิทยาศาสตร์ทางการเกษตร แผนกวิทยาศาสตร์ทางอาหาร และแผนกวิศวะทางด้านสิ่งแวดล้อม บริเวณรอบ ๆ โรงเรียนรายล้อมด้วย  นาข้าวบนที่ราบสูงชิโรอิชิ พี่นักเรียนญี่ปุ่น ได้นำคณะฯ เยี่ยมชมห้อง    กรีนเฮ้าส์และลองชิมผลผลิตทางการเกษตร ซึ่งมีการปลูกมะเขือเทศ สตรอเบอร์รี่ และเมลอน ชมฟาร์มปศุสัตว์และให้อาหารสัตว์ มีการเลี้ยงม้า เต่า กระต่าย และสุนัข พร้อมร่วมรับประทานอาหารกลางวันกับพี่นักเรียนญี่ปุ่น

ในการเยือนโรงเรียน คณะยุวทูตความดีได้นำเสนอเรื่องราวของ เมืองไทยเมืองยิ้ม เศรษฐกิจพอเพียง ด้วยภาษาอังกฤษที่ชัดเจน คล่องแคล่ว รวมทั้งแสดงความสามารถในการแสดงทางวัฒนธรรม อาทิ รำมโนราห์ การขับร้องเพลงไทย อังกฤษ และญี่ปุ่น สร้างความชื่นชมและชื่นชอบเป็นอย่างมาก การแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมอาหาร คณะฯ ได้นำเสนอขนมของไทย รวมทั้งได้แลกเปลี่ยนของที่ระลึกและช่องทางการติดต่อระหว่างกัน นับเป็นการพัฒนาโลกทัศน์และขยายฐานแห่งมิตรภาพระดับเยาวชนของทั้งสองประเทศ

อนึ่ง คณะได้เรียนรู้วิถีชีวิตความเป็นอยู่ ด้วยการพำนักอยู่กับครอบครัวชาวญี่ปุ่น (Homestay) ในเมืองซากะ จังหวัดซากะ และเป็นตัวแทนเยาวชนไทยในการแสดงศิลปวัฒนธรรมไทย ในพิธีเปิดงานเทศกาลไทยที่จังหวัดซากะ (SAGA Saiko Festival) พร้อมร่วมเดินพาเหรดด้วยชุดไทย ในงานเทศกาลประจำปีเมืองซากะ SAGA Ishin Matsuri

คณะยุวทูตฯ ยังได้ศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับวิทยาการที่ทันสมัย ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมของญี่ปุ่น ผ่านพิพิธภัณฑ์และสถานที่สำคัญ อาทิ

จังหวัดฟูกูโอกะ  คณะได้เยี่ยมชม วัดนันโซอิน (Nanzoin Temple) หนึ่งในวัดที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในฟุกุโอกะเป็นที่ประดิษฐาน พระพุทธรูปทองสัมฤทธิ์ ที่ใหญ่ที่สุดในโลก 

พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ (Fukuoka City Science Museum) ศูนย์แสดงความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ 

มีการแบ่งโซนเป็น ห้องนิทรรศการ  Science Navi  ห้องทดลอง  และโดมเธียร์เตอร์ (ท้องฟ้าจำลอง) เป็นต้น

ศูนย์ป้องกันภัยพิบัติ เมืองฟูกูโอกะ (Fukuoka Citizen’s Disaster Prevention) ศูนย์ความรู้ แนะนำ

เทคนิค และเพิ่มทักษะเกี่ยวกับการป้องกันภัยพิบัติของเมืองฟุกุโอกะ มีการเฝ้าระวังภัยทางธรรมชาติ ในมิติต่าง ๆ 

ไม่ว่าจะเป็น ไฟไหม้ น้ำท่วม และแผ่นดินไหว มีการจำลองเหตุการณ์เสมือนจริงด้วยภาพ 3 มิติ สามารถนำไปใช้

ในชีวิตได้จริง 

พิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำ อุมิโนะนากะมิจิ มารีนเวิลด์ (Uminonakamichi Marine World) อควาเรียมที่ใหญ่ที่สุดของประเทศญี่ปุ่น เป็นจุดรวมปลาสายพันธุ์ต่าง ๆ มากมาย มีพื้นที่จัดแสดงโชว์สัตว์น้ำกลางแจ้ง เช่น โลมา ปลาวาฬ และแมวน้ำ 

พิพิธภัณฑ์ศิลปะดิจิตอล ทีมแล็บ ฟอเรสต์ ฟูกูโอกะ (TeamLab Forest Fukuoka) พิพิธภัณฑ์ศิลปะ เปล่งประกายจากเทคโนโลยีแสงสีเสียงสุดล้ำ ผ่านนิทรรศการหมุนเวียนที่เปลี่ยนไปตามฤดูกาลของปี

ศาลเจ้าดาไซฟุ (Dazaifu Shrine) ศาลเจ้าศักดิ์สิทธิ์ที่ผู้คนนิยมกราบไหว้ ขอพรในเรื่องการศึกษา

จังหวัดซากะ (Saga) คณะได้เยี่ยมชม ศาลเจ้า Yutoku Inari ศาลเจ้าศาสนาพุทธนิกายชินโต ผู้คนนิยม มาสักการะขอพร เพื่อให้การเก็บเกี่ยวพืชผลทางการเกษตรและธุรกิจต่างให้มีความสำเร็จ และยังถือเป็นจุดชมวิว ที่สวยงามของเมืองซากะด้วย

อุทยานประวัติศาสตร์โยชิโนการิ (Yoshinogari Historical Park) อุทยานประวัติศาสตร์แห่งชาติ เกี่ยวกับวิถีชีวิตของผู้คนยุคโบราณของญี่ปุ่น ตั้งแต่ช่วงเริ่มตั้งรกรากในยุคยาโยอิ (Yayoi) ประมาณ 300 ปีก่อนคริสตกาล 

จังหวัดนางาซากิ (Nagasaki) คณะได้เยี่ยมชม สวนสันติภาพนางาซากิ (Nagasaki Peace Park)จัดสร้างขึ้นเพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ทิ้งระเบิดปรมาณูที่ชื่อว่า Fat man เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2488 

พิพิธภัณฑ์ปรมาณูนางาซากิ (Nagasaki Atomic Bomb Museum)  จัดแสดงเรื่องราว ข้อมูลเหตุการณ์ และซากชิ้นส่วนสิ่งของต่างๆ ตั้งแต่ก่อนการถูกถล่มด้วยระเบิดปรมาณูลูกที่ 2 และเป็นสิ่งเตือนใจให้ผู้คนได้ระลึกถึงความสูญเสียอันยิ่งใหญ่ในวันที่นางาซากิโดน “Fat Man” ระเบิดปรมาณูที่ใช้เชื้อเพลิงพลูโตเนียมลูกที่ 2 ต่อจากเมืองฮิโรชิม่า ที่ทำให้มีผู้คนล้มตาย และผู้ที่รอดชีวิตต้องทนทุกข์ทรมานจากพิษร้ายของสารพลูโตเนียมไปเกือบทั้งเมือง

เดจิมะ (Dejima) ย่านเมืองเก่าในจังหวัดนางาซากิ  มีลักษณะเป็นเกาะ ที่ถูกสร้างขึ้นจากฝีมือของมนุษย์ ในช่วงประมาณปี พ.ศ. 2179 ภายหลังมีการประกาศเป็นเขตอนุรักษ์ ทำให้มีการรักษา ความเก่าแก่ของทุก ๆ สิ่งบนพื้นที่นี้อย่างดีเยี่ยม ทั้งอาคารแบบเก่า โกดังเก็บของ บ้านเรือน โรงงานอุตสาหกรรม กำแพง ประตู ฯลฯ

จังหวัดคุมาโมโตะ (Kumamoto) คณะได้เยี่ยมชม  ปราสาทคูมาโมโตะ (Kumamoto Castle)สถาปัตยกรรมปราสาทแบบญี่ปุ่นดั้งเดิม สร้างประมาณปี พ.ศ. 2144 ด้านนอกของปราสาทมีสีดำน่าเกรงขามและมีกำแพงที่ลาดชัน เพื่อป้องกันการบุกรุกของข้าศึก อีกทั้งยังออกแบบมาพิเศษเพื่อขัดขวางไม่ให้นินจาโจมตีได้ในสมัยก่อน ปัจจุบันเป็นที่จัดแสดงนิทรรศการและข้าวของเครื่องใช้ทางประวัติศาสตร์ในสมัยนั้น

สวนซุยเซนจิ (Suizenji Garden) สวนสไตล์ญี่ปุ่น ภายในมีทั้งสถานที่ สิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ ที่มีชื่อเสียงของญี่ปุ่น ไม่ว่าจะเป็น ภูเขาไฟฟูจิ ทะเลสาบบิวะ ฯลฯ ถูกสร้างขึ้นประมาณศตวรรษที่ 17 ปัจจุบันเป็นสถานที่ที่มีทัศนียภาพสวยงาม และได้รับการคัดเลือกให้เป็นโบราณสถานแห่งชาติโดยรัฐบาลญี่ปุ่น

โครงการดังกล่าว เป็นความริเริ่มของสถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองฟูกูโอกะ นับเป็นรูปแบบของความร่วมมือระหว่างสถานกงสุลใหญ่กับมูลนิธิฯ ที่ให้เยาวชนทำหน้าที่เป็นสะพานแห่งมิตรภาพเชื่อมโยงความสัมพันธ์อันดีระดับเยาวชนไทย – ญี่ปุ่น ในการแลกเปลี่ยนประสบการณ์เรียนรู้ระหว่างกัน เป็นการพัฒนาโลกทัศน์และขยายฐานแห่งมิตรภาพระดับเยาวชนของประเทศทั้งสองให้แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น  ด้วยความสนับสนุนจากสถานกงสุลใหญ่และเจ้าหน้าที่ทุกคนเป็นแบบอย่างที่น่าชื่นชมยิ่งและเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้การเยือนฯ บรรลุผลตามเป้าหมาย

โครงการสอท. / สกญ. อุปถัมภ์

ค่ายอบรม รักษ์โลก รักแผ่นดิน ปี 2566

มูลนิธิยุวทูตความดี ดำเนินโครงการต้นกล้าความดี ก้าวสู่สากล ปี 2566 จัดค่ายอบรม รักษ์โลก – รักแผ่นดิน ระหว่างวันที่ 25 เมษายน – 2 พฤษภาคม 2566 ที่อุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธร จังหวัดเพชรบุรี โดยมีเยาวชนยุวทูตฯ เข้าร่วม 102 คน ครู 25 คน รวม 127 คน จาก 25 โรงเรียน ใน 25 จังหวัด จากทั่วทุกภาคของประเทศ  ในวันที่ 25 เมษายน 2566 ผอ.จันทร์ทิพา ภู่ตระกูล ผู้อำนวยการมูลนิธิยุวทูตความดี กล่าวเปิดค่ายอบรม การเรียนรู้แบบ 360 องศา ที่รอบรู้ รอบด้าน เรียนรู้จากสิ่งที่ตั้งแสดงให้รู้ และเรียนรู้จากการออกไปยังพื้นที่โครงการที่เราสามารถเห็นได้กับตา ถึงสิ่งที่อยู่ตรงหน้า แล้วต้องเสริมความแข็งแกร่ง ด้วยการเพิ่มพูนทักษะทางด้านภาษาและเสริมสร้างทักษะความสามารถที่มีอยู่ในตัวนักเรียนและครู เมื่อเรียนรู้แล้ว ก็ต้องต่อยอดด้วย การเผยแพร่สิ่งที่เรียนรู้ให้เป็นวงกว้าง นำผลดีจากสิ่งที่ได้พบเห็นไปบอกต่อกับเพื่อนที่ไม่มีโอกาสได้มาเข้าค่าย  […]

คณะยุวทูตความดี เยือนนิวซีแลนด์

สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเวลลิงตัน ร่วมกับ มูลนิธิยุวทูตความดี ดำเนินโครงการเสริมสร้างประสบการณ์เรียนรู้ และสานสัมพันธ์สร้างมิตรไมตรีของยุวทูตความดีในนิวซีแลนด์ ระหว่างวันที่ 4 – 15 ธันวาคม 2566 คณะฯ จำนวน 7 คน ประกอบด้วย นักเรียน 6 คน ครู 1 คน คณะยุวทูตฯ มาจาก 7 โรงเรียน ใน 7 จังหวัดทั่วทุกภาคของประเทศ ระดับชั้น ป.5 – ป.6 อายุเฉลี่ย 11 – 14 ปี ได้รับการคัดเลือกจากค่ายอบรม ต้นกล้าความดี ก้าวสู่สากล ซึ่งจัดขึ้นที่อุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธร จังหวัดเพชรบุรี เมื่อเดือนเมษายน 2566

รายนามคณะยุวทูตความดีเข้าร่วมโครงการพัฒนาโลกทัศน์เยือนนิวซีแลนด์ ระหว่างวันที่ 4 – 15 ธันวาคม 2566

มูลนิธิยุวทูตความดี ร่วมกับสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเวลลิงตัน ดำเนินโครงการฯ ภายใต้โครงการ สอท.อุปถัมภ์ ระหว่างวันที่ 4 – 15 ธันวาคม 2566 คณะประกอบด้วย นักเรียนยุวทูตฯ 6 คน ครู 1 คน รวมจำนวน 7 คน จาก 7 โรงเรียน ใน 7 จังหวัด ซึ่งได้รับคัดเลือกจาก โครงการค่ายอบรมต้นกล้าความดี ก้าวสู่สากล  รายนามคณะยุวทูตความดีเยือนนิวซีแลนด์ (สอท.อุปถัมภ์)

keyboard_arrow_up