Skip to main content

การพัฒนาโลกทัศน์เพื่อก้าวสู่ประชาคมอาเซียน

7 - 9 พฤศจิกายน 2557
ผู้เข้าชม 21,930

โดย ดร.รัตนา ศรีเหรัญ
รรองเลขาธิการสพฐ.


ดิฉันมีความสนใจในการดำเนินงานของมูลนิธิยุวทูตความดี และคิดว่าการได้มาเป็นรองเลขาธิการกพฐ.เป็นโอกาสที่ดีสำหรับดิฉัน ทำให้ได้มีโอกาสเข้ามาสัมผัสการทำงานของมูลนิธิฯ ได้เข้ามาดูรายละเอียดในการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการโครงการเหย้า – เยือน เพื่อพลังแผ่นดิน ครั้งนี้ ขอชื่นชมโครงการนี้ว่าเป็นโครงการที่ดี เพราะเป็นโครงการที่เปิดโอกาสให้เขตพื้นที่และโรงเรียน ซึ่งประกอบด้วยผู้บริหาร คุณครู และนักเรียน ได้ร่วมกันทำความดีเพื่อพัฒนานักเรียนและโรงเรียนก่อนที่จะเริ่มดำเนินงานปีนี้ ผอ.มูลนิธิฯ ได้มาพบกับท่านเลขาธิการกพฐ.เพื่อเรียนเสนอรายละเอียดการดำเนินงานร่วมกันในปี 2558 รวมทั้งเรื่องการสนับสนุนงบประมาณแก่มูลนิธิฯ สิ่งที่อยากจะนำเรียนในวันนี้คือ ในปีนี้สพฐ. จะร่วมกับมูลนิธิฯ จัดกิจกรรมต่าง ๆ สรุปได้ดังนี้

กิจกรรมศิลปหัตถกรรมระดับชาติครั้งที่ 64 ที่เมืองทองธานี ซึ่งมูลนิธิฯ และสพฐ.จะจัดบูทแสดงนิทรรศการกิจกรรมของมูลนิธิฯ ร่วมกัน ภายในงานจะมีการแข่งขันกันตอบปัญหาเกี่ยวกับอาเซียนทั้งภาษาไทยและอังกฤษเช่นเดียวกับปีก่อน

การสัมมนาเชิงปฏิบัติการโครงการเหย้า – เยือน เพื่อพลังแผ่นดิน ที่ทางมูลนิธิฯ จัดขึ้นในวันที่ 7 – 9 พฤศจิกายน 2557 และนำเรามาพบกันในที่นี้ 

การสัมมนาเชิงปฏิบัติการโครงการเยาวชนคนดี รู้คุณแผ่นดินปี 2557 ที่ผู้บริหารโรงเรียนและครูมาหารือกันเกี่ยวกับกิจกรรมปลูกจิตสำนึก ฝึกจิตอาสาก่อนที่จะมีการคัดเลือกนักเรียนที่ทำกิจกรรมมาเข้าค่ายอบรม ฯลฯ จากนั้นจึงคัดเลือกให้ไปต่อยอดการพัฒนาโลกทัศน์ยังประเทศ มาเลเซีย เมียนมาร์ และเวียดนาม ซึ่งจะทำให้นักเรียนได้เรียนรู้ประสบการณ์ต่าง ๆ มากมาย

ทั้งนี้ หลายเขตพื้นที่การศึกษาได้มีการติดตามและประเมินผลกิจกรรมยุวทูตความดีและกิจกรรมอื่นๆ ที่มูลนิธิฯ จัดร่วมกับสพฐ.ที่ได้ดำเนินการ เช่น ราชบุรีเขต 1 และ อุดรธานีเขต 1 ท้ายที่สุดแล้ว มีข้อค้นพบที่ตรงกันอย่างหนึ่งคือ กิจกรรมที่ได้ดำเนินการเป็นกิจกรรมที่ดีมาก เนื่องจากทำให้นักเรียนเกิดทักษะชีวิตใน 4 เรื่อง ได้แก่ การตระหนักรู้ในการเห็นคุณค่าของตัวเองและผู้อื่น การคิดวิเคราะห์ การตัดสินใจและแก้ปัญหา การจัดการกับอารมณ์และการสร้างสัมพันธภาพที่ดีกับผู้อื่น สำหรับกิจกรรมวันที่ 7 – 9 นี้ก็เป็นกิจกรรมที่เสริมสร้างทักษะชีวิตเช่นกัน เพราะทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน อย่างไรก็ดี ขอฝากไว้ว่า ถ้ากิจกรรมต่างๆ ทำให้เกิดทักษะชีวิตจริง เราจะสามารถนำความรู้ที่ได้ไปปรับใช้ในการเรียนการสอนเพื่อให้เด็กมีทักษะชีวิตได้อย่างไร หรือ จะสามารถนำไปปรับใช้ในเขตพื้นที่ โรงเรียน หรือห้องเรียนเราได้อย่างไรในการศึกษาของราชบุรีเขต 1 และอุดรธานีเขต 1 มีข้อคิดว่า กิจกรรมที่จะช่วยเสริมสร้างคุณลักษณะที่ดีให้เกิดขึ้นกับผู้เรียนจำเป็นต้องเป็นกิจกรรมที่ทำอย่างต่อเนื่อง มีการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ และมีการสร้างเครือข่ายเพื่อส่งเสริมการทำความดีและการเรียนรู้ร่วมกัน ดังนั้น จึงอยากฝากให้ดูว่า กิจกรรมที่ทางมูลนิธิฯ ได้จัดทำขึ้นนั้น จะมีผลการศึกษาตรงกับ 2 เขตพื้นที่ดังกล่าวหรือไม่ ขอให้ดูว่าเราจะสามารถนำเอาความรู้ที่ได้รับไปใช้ได้อย่างไร กิจกรรมทำให้เรามีเครือข่ายเพิ่มขึ้นจริงหรือไม่ ซึ่งอันที่จริงก็มีข้อพิสูจน์อยู่แล้ว เห็นได้จากการที่โรงเรียนในเขตพื้นที่ที่ร่วมโครงการมีการขยายเครือข่ายไปในทุกจังหวัด ทั่วทุกภูมิภาค

ในศตวรรษที่ 21 และในปีที่เราจะก้าวสู่ประชาคมอาเซียนนี้ เป้าหมายหลักของการเรียนการสอนหรือการศึกษาของโรงเรียนในทุกเขตพื้นที่ คือ การทำให้ นักเรียนเป็นคนดี คนเก่ง และมีคุณภาพในระดับมาตรฐานสากล โดยมีเป้าหมายในการพัฒนาผู้เรียนที่สำคัญ คือ

1. ต้องปลูกฝังคุณลักษณะอันพึงประสงค์ในตัวผู้เรียน ทั้งในเรื่องของการรักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ การซื่อสัตว์ สุจริต การมีวินัย ใฝ่เรียนรู้ การอยู่ อย่างพอเพียง การมีความมุ่งมั่นในการทำงาน การรักความเป็นไทย และที่สำคัญคือ การมีจิตสาธารณะ ซึ่งคุณลักษณะเหล่านี้ในปัจจุบันได้ย่อหย่อนลงไป ทั้งนี้ อยากจะฝากให้ดูว่ากิจกรรมที่มูลนิธิฯ ได้จัดทำให้นั้น จะปลูกฝังสิ่งเหล่านี้ได้จริงหรือไม่และมีกิจกรรมอะไรบ้างที่จะช่วยปลูกฝังคุณลักษณะอันพึงประสงค์เหล่านี้

2. ต้องสร้างทักษะสำหรับศตวรรษที่ 21 โดยเน้นความสามารถใน 5 ด้าน คือ ความสามารถในการสื่อสาร ความสามารถในการคิด ความสามารถในการแก้ปัญหา ทักษะชีวิต และความสามารถในการใช้เทคโนโลยี สิ่งเหล่านี้ไม่ว่าในศตวรรษไหนก็มีความจำเป็นทั้งสิ้น โดยเฉพาะในศตวรรษที่ 21 นั้น เรื่องการใช้เทคโนโลยีมีความสำคัญมาก จากผลการศึกษาเขตพื้นที่การศึกษาทั้ง 2 เขตข้างต้น พบว่า กิจกรรมของมูลนิธิฯ หลายกิจกรรมเน้นการสร้างทักษะชีวิต อย่างไรก็ตาม ขอฝากให้ดูด้วยว่า สำหรับกิจกรรมที่เราได้ทำในช่วง 3 วันนี้และกิจกรรมอื่นๆ ที่มูลนิธิฯ จัดทำขึ้น จะช่วยสร้างให้เกิดทักษะเหล่านี้ได้อย่างไรตัวอย่างเช่น กิจกรรมการคัดเลือกเด็กจากการเข้าค่ายอบรม ฯลฯ และนำไปเปิดตัวยังต่างประเทศนั้น จะสามารถเสริมสร้างทักษะของเด็กได้จริงหรือไม่

3. ต้องมีเป้าหมายในการพัฒนาภาษาต่างประเทศ โดยเราจะต้องสามารถนำความรู้ที่ได้จากการจัดกิจกรรมของมูลนิธิฯ และการร่วมกิจกรรมภาษาต่างประเทศต่างๆ ไปปรับใช้ได้ ต้องดูว่าโรงเรียนหลักและโรงเรียนเครือข่าย รวมทั้งโรงเรียนที่ไม่ได้เข้าร่วมโครงการ จะช่วยเหลือกันได้อย่างไรบ้าง และหากเรากลับไปในเขตพื้นที่แล้ว เราจะสามารถนำความรู้ที่ได้จากการร่วมกิจกรรมภาษาต่างประเทศนี้ไปใช้ในทางใดหรือในแง่ใดได้บ้าง รวมทั้งจะสามารถนำไปพัฒนาต่อได้อย่างไร เช่น จะสามารถนำไปพัฒนาครูหรือจะสามารถช่วยหาสื่อมาเสริมกลุ่มโรงเรียนของเราได้มากน้อยแค่ไหน การที่เราได้ช่วยเหลือโรงเรียนที่มีโอกาสน้อยกว่าเราให้พัฒนาได้ดีขึ้นนี้ ไม่ว่าจะเป็นครูหรือนักเรียน ก็ถือเป็นการทำกิจกรรมความดีของเราอย่างหนึ่ง

4. ต้องสามารถนำความรู้ที่ได้ในเรื่องของอาเซียนศึกษาและการศึกษาเพื่อการเป็นพลเมืองโลกที่ได้จากกิจกรรมเปิดโลกทัศน์ในประเทศเพื่อนบ้านอาเซียนประเทศต่างๆ มาบูรณาการการเรียนการสอนและการบริหารจัดการโรงเรียนได้ โดยต้องดูด้วยว่าเราจะสามารถทำอะไรอย่างไรได้บ้างเป้าหมายทั้ง 4 นี้เป็นเป้าหมายที่สำคัญในการศึกษาในยุคปัจจุบันที่แต่ละโรงเรียนจำเป็นต้องนำไปดำเนินการ ทั้งนี้ สพฐ.หวังว่าการร่วมสัมมนาฯ 3 วันนี้ จะเป็นประโยชน์สำหรับพวกเราทุกคน และจะสามารถนำไปใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อโรงเรียนและชุมชนของเราได้ และว่ากิจกรรมเหล่านี้สอนให้เราตระหนักถึงการทำความดีร่วมกัน และการยอมรับในความเหมือนและความต่างของกันและกัน สุดท้ายนี้หวังว่าสพฐ.จะได้มีโอกาสร่วมกิจกรรมกับมูลนิธิฯ อีก ขอให้การดำเนินกิจกรรมทั้งหมดนี้ประสบผลสำเร็จ และหวังว่าเราจะได้มีโอกาสพบกันอีก ขอบคุณทุกคน



* ถอดความจากการบรรยายพิเศษในการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ โครงการเหย้า – เยือน เพื่อพลังแผ่นดิน ปี 2557 วันที่ 7 พฤศจิกายน 2557 ที่กระทรวงการต่างประเทศ

ต่อยอดความรู้ สู่การปฏิบัติ

คำกล่าวเปิดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ โครงการต้นกล้าความดี ตามวิถีพอเพียง

พลังความรู้นำเยาวชนสู่ยุค 4.0 4.0 เป็นคำที่สะท้อนของวิวัฒนาการ จากยุคที่เราเคยล่าสัตว์ ทำการเกษตร บัดนี้ก็มาถึงยุคที่เราจะต้องสร้างและขับเคลื่อนสังคมด้วยนวัตกรรม

ผู้บริหารกับการบ่มเพาะเยาวชนให้เป็นต้นกล้าความดี ในวิถีพอเพียง

พลังความรู้นำเยาวชนสู่ยุค 4.0 4.0 เป็นคำที่สะท้อนของวิวัฒนาการ จากยุคที่เราเคยล่าสัตว์ ทำการเกษตร บัดนี้ก็มาถึงยุคที่เราจะต้องสร้างและขับเคลื่อนสังคมด้วยนวัตกรรม

พลังความรู้นำเยาวชนสู่ยุค 4.0

พลังความรู้นำเยาวชนสู่ยุค 4.0 4.0 เป็นคำที่สะท้อนของวิวัฒนาการ จากยุคที่เราเคยล่าสัตว์ ทำการเกษตร บัดนี้ก็มาถึงยุคที่เราจะต้องสร้างและขับเคลื่อนสังคมด้วยนวัตกรรม

keyboard_arrow_up