Skip to main content

ความต่อเนื่องของโครงการเหย้า-เยือนเพื่อพลังแผ่นดิน

7 - 9 พฤศจิกายน 2557
ผู้เข้าชม 23,827

โดย ผอ.จุฑาทิพย์ อิทธิศุภเศรษฐ์
โรงเรียนบ้านสวนหลวงจังหวัดประจวบคีรีขันธ์


การเสวนาในส่วนของดิฉันจะลงลึกในส่วนของกิจกรรม เพื่อที่จะให้พวกเราได้เห็นภาพ คล้ายกับการเล่าสู่กันฟังว่าประสบการณ์จากการทำกิจกรรมโครงการเหย้า-เยือน เราผ่านความรู้สึก ผ่านกิจกรรม ผ่านผลสำเร็จอะไรมาบ้าง ในช่วงปลายเดือนพฤษภาคมปี 2556 ดิฉันมีโอกาสได้ร่วมกิจกรรมเหมือนทุกท่านที่นั่งอยู่ตรงนี้ แต่เราจัดกิจกรรมกันที่จังหวัดขอนแก่นเป็นเวลาสามวัน และเราก็ได้รับการจับคู่ร่วมกับโรงเรียนสุนทรวัฒนาจังหวัดชัยภูมิ ก็กลายเป็นว่าจังหวัดประจวบฯ คู่กับจังหวัดชัยภูมิหลังจากเราได้รับแนวคิดจากการเข้าร่วมกิจกรรม ณ วันนั้น ก็กลับมาที่โรงเรียน

ผอ.มูลนิธิฯ ได้พยายามติดตามว่าโรงเรียนบ้านสวนหลวงซึ่งเป็นโรงเรียนแม่ข่าย ว่าดำเนินการไปถึงไหนแล้ว ตอนนั้นรู้สึกกดดันมาก ตอนแรกเรามองว่าเงินคือปัญหา เราได้รับงบประมาณห้าหมื่นบาทกับเวลาห้าวัน เราก็มองว่าเงินแค่นี้กับเด็กของชัยภูมิห้าสิบคนกับของเราอีกห้าสิบคน หนึ่งร้อยคนห้าวันจะทำอย่างไรดี คิดแล้วก็ปวดหัวมาอยู่หลายวัน อย่างหนึ่งที่คิดว่าเป็นก้าวแรกที่มองเห็นภาพคือ ช่วงวันสุดท้ายหรือกิจกรรมท้ายๆ เราจะคัดเลือกโรงเรียนแม่ข่ายของจังหวัดก่อน สมมุติว่ามาจากจังหวัดละสี่โรงเรียน เราก็เลือกแม่ข่ายก่อนว่าเราจะเอาโรงเรียนอะไร อย่างโรงเรียนดิฉันเองก็ต่างจากโรงเรียนสุนทรวัฒนาโดยสิ้นเชิง เป็นเพียงโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษา เป็นโรงเรียนที่ผสมกันระหว่างนักเรียนไทยพุทธและมุสลิม มีเศรษฐกิจที่ค่อนข้างแย่และสภาพสังคมที่ไม่ดีนัก เป็นโรงเรียนที่ด้อยโอกาสขนาดแท้

แต่ท้ายที่สุดแล้ว โรงเรียนบ้านสวนหลวงก็ได้รับการคัดเลือกให้เป็นโรงเรียนแม่ข่าย ที่ได้รับเลือกก็เป็นเพราะเรามีตัวตั้งของกรอบกิจกรรม คือ เราเน้นสร้างเด็กให้มีจิตสำนึก มีจิตอาสา และรู้คุณค่าของแผ่นดิน และสำหรับเรื่องสถานที่ในการทำกิจกรรมนั้น แม้ว่าสภาพชุมชนของโรงเรียนเราไม่ดีเท่าไรนัก แต่เรามีสภาพภูมิศาสตร์ที่เอื้ออำนวยต่อการดำเนินกิจกรรม เช่น ทะเล ที่อ. บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ภูมิศาสตร์นี้ นักเรียนจากชัยภูมิไม่มีโอกาสที่จะศึกษาเมื่อพวกเขาอยู่ชัยภูมิ สำหรับกรอบการทำกิจกรรมของเรา นั้นประกอบด้วย

  1. ให้เด็กได้เรียนรู้ด้านประวัติศาสตร์ โดยให้เด็กได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กันในภาพรวมของจังหวัด ไม่เพียงเฉพาะแค่อ. บางสะพาน โดยเราดูว่า จากชัยภูมิ เขาจะสามารถเรียนรู้อะไรได้บ้างจากประจวบฯที่สุดแล้ว ก็คิดว่า ควรให้เรียนรู้พิพิธภัณฑ์สงครามโลกครั้งที่ 2 โบสถ์ไม้ตาล อุทยานวิทยาศาสตร์พระจอมเกล้าฯ เป็นต้น

  2. ให้เด็กได้เรียนรู้วิถีชีวิตชุมชน โดยเราดูว่า อะไรเป็นสิ่งที่พบได้มากและเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดที่ควรให้เด็กได้เรียนรู้ เช่น เรามีมะพร้าวมาก เราก็ให้ เด็กเรียนรู้การสานใบมะพร้าว การที่โรงเรียนอยู่ไม่ไกลจากทะเล เราก็ให้เด็กได้ประดิษฐ์เปลือกหอย เรามีทองบางสะพาน เราก็ให้เด็กได้ร่อนทองและรับความรู้ การร่อนทองจากวิทยากรท้องถิ่น และให้เด็กได้ดูสาธิตการกรีดยาง เป็นต้น

  3. ให้เด็กได้เรียนรู้กิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ โดยให้เด็กได้ทำกิจกรรมที่ไม่เคยทำมาก่อน เช่น กิจกรรมนอนวัด ปฏิบัติธรรม และบำเพ็ญประโยชน์ ณ วัดที่ เราทาบทาม รวมถึงกิจกรรมปลูกป่าชายเลน

  4. ให้เด็กได้เรียนรู้กิจกรรมเรียนรู้คนดีศรีประจวบฯ โดยทำถนนคนดี ซึ่งปรับแนวคิดจากถนนคนเดิน โดยจัดให้ร้านแต่ละร้านเป็นฐานคนดีแต่ละคน เพื่อให้ เด็กได้เรียนรู้ เช่น พเยาว์ พูนธรัตน์ นักกีฬาโอลิมปิกระดับโลก พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในหลวงผู้ทรงเคยมาใช้พื้นที่ที่หว้ากอเพื่อดูสุริยุปราคา เป็นต้น นอกจากนี้ ถนนยังคงรวมคนดีของชุมชนและภูมิปัญญาท้องถิ่นไว้ด้วย เช่น กลองยาว ตลอดการทำกิจกรรม เราได้รับน้ำใจอย่างมากมาย โดยงานทุก อย่างสามารถสำเร็จลงโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายเลย เนื่องจากตนได้ประสานกับหน่วยงานตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) และโรงเรียนโสตศึกษาเทพรัตน์ และวิทยาลัยการอาชีพบางสะพานเพื่อขอความช่วยเหลือ ซึ่งทุกหน่วยงานก็ยินดีช่วย หลังจากนั้น เราก็มาดูว่าในแต่ละวันเราจะทำอะไรบ้าง 

หากกล่าวโดยสรุป วันแรกเราทำกิจกรรมผูกเสี่ยวเกี่ยวมือ ซึ่งเป็นกิจกรรมของชุมชน กิจกรรมละลายพฤติกรรม และกิจกรรมอื่นๆ ให้เด็กได้เรียนรู้ เช่น วิธีสานหมวก การประดิษฐ์วัสดุจากเปลือกหอย การทำกะลามะพร้าว เป็นต้น วันที่สอง เราทำกิจกรรมปลูกป่าชายเลน ปล่อยปู และกิจกรรมถนนคนดีในช่วงบ่ายและช่วงค่ำ วันที่สาม เราพาเด็กไปร่อนทอง สาธิตการกรีดยาง ชมโบสถ์ไม้ตาล และเข้าวัดทางสายเพื่อชมภาพจิตรกรรมฝาผนังในวัดซึ่งวาดโดยช่างศิลปะจากในวัง วันที่สี่ เราพาเด็กไปด่านสิงขร ส่วนที่แคบที่สุดของประเทศไทย และพาไปชายแดนประเทศพม่าและตลาดพม่า เพื่อศึกษาพืชพันธุ์ที่พม่าเอามาขาย หลังจากนั้น ก็พาไปอุทยานวิทยาศาสตร์พระจอมเกล้าฯ ณ ต.หว้ากอ สุดท้าย พาเด็กทำกิจกรรมนอนวัดปฏิบัติธรรม บำเพ็ญประโยชน์ ศึกษาอุทยานสงครามโลกครั้งที่ 2 เยี่ยมชมศาลหลักเมือง เขาช่องกระจก ขอพรศาลหลักเมือง และแยกย้ายกันเดินทางกลับ

สำหรับผลการดำเนินการนั้น เด็กและครูมีความประทับใจมาก กิจกรรมเองก็สอดรับกับสาระการเรียนรู้ กิจกรรมพัฒนาผู้เรียนและสร้างทักษะชีวิตทั้ง 4 ด้านที่เราต้องการส่งเสริม ที่สำคัญที่สุด คือ เกิดการสร้างสัมพันธภาพอันดีระหว่างนักเรียนทั้ง 2 จังหวัดทั้ง 8 โรงเรียน อยากจะฝากบอกทุกท่านว่า ทุกคนทำได้ มูลนิธิยุวทูตความดีได้เปิดประตู เปิดโอกาส และเปิดประสบการณ์ให้นักเรียนและครูไว้แล้ว เพียงแค่ เรารู้จักคิด รู้จักก้าว ใช้พลังขาของเราก้าวไปให้ถึงจุดหมายเท่านั้นเอง

และสิ่งสุดท้ายที่อยากจะฝากไว้ คือ การที่โครงการยุวทูตความดี และโครงการเหย้า-เยือน จะมีความยั่งยืนและมีเครือข่ายร่วมกันนั้น ๓ สิ่งสำคัญที่ควรคำนึงถึง ได้แก่

  1. ใจผู้บริหาร ใจผู้ร่วมกิจกรรมและชุมชน เพราะหากเราทำด้วยใจสิ่งนั้นก็สำเร็จไปครึ่งหนึ่งแล้ว
  2. การวางแผนงาน เราต้องวางแผนงานก่อนการดำเนินการ ต้องเริ่มการวางแผนเขียนโครงการตั้งแต่วันสุดท้ายที่เราทำกิจกรรมนี้ และส่งโครงการไปให้ทางผู้ดำเนินการและท่านทูตให้ช่วยแก้ไขเพิ่มเติม
  3. การปรึกษาหารือ การประสานความร่วมมือและการสรุปผลงานร่วมงานกัน ทั้งระหว่างการดำเนินงานและหลังการดำเนินงาน

ด้วยเงินห้าหมื่นบาทกับเงินที่แต่ละโรงเรียนช่วยกันสนับสนุนอีกโรงเรียนละไม่เกินสองหมื่นบาท เราได้ใจหลายร้อยดวงใจ และก็กลายมาเป็นเป็นดวงใจใหญ่ๆหนึ่งดวง ซึ่งเราตัดกันไม่ขาดจนถึงทุกวันนี้ ขอบคุณค่ะ

* ถอดความจากการบรรยายพิเศษในการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ โครงการเหย้า – เยือน เพื่อพลังแผ่นดิน ปี 2557 วันที่ 7 พฤศจิกายน 2557 ที่กระทรวงการต่างประเทศ

ต่อยอดความรู้ สู่การปฏิบัติ

คำกล่าวเปิดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ โครงการต้นกล้าความดี ตามวิถีพอเพียง

พลังความรู้นำเยาวชนสู่ยุค 4.0 4.0 เป็นคำที่สะท้อนของวิวัฒนาการ จากยุคที่เราเคยล่าสัตว์ ทำการเกษตร บัดนี้ก็มาถึงยุคที่เราจะต้องสร้างและขับเคลื่อนสังคมด้วยนวัตกรรม

ผู้บริหารกับการบ่มเพาะเยาวชนให้เป็นต้นกล้าความดี ในวิถีพอเพียง

พลังความรู้นำเยาวชนสู่ยุค 4.0 4.0 เป็นคำที่สะท้อนของวิวัฒนาการ จากยุคที่เราเคยล่าสัตว์ ทำการเกษตร บัดนี้ก็มาถึงยุคที่เราจะต้องสร้างและขับเคลื่อนสังคมด้วยนวัตกรรม

พลังความรู้นำเยาวชนสู่ยุค 4.0

พลังความรู้นำเยาวชนสู่ยุค 4.0 4.0 เป็นคำที่สะท้อนของวิวัฒนาการ จากยุคที่เราเคยล่าสัตว์ ทำการเกษตร บัดนี้ก็มาถึงยุคที่เราจะต้องสร้างและขับเคลื่อนสังคมด้วยนวัตกรรม

keyboard_arrow_up