Skip to main content

ผู้บริหารการศึกษากับการก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียน

26 - 29 กันยายน 2557
ผู้เข้าชม 27,476

โดย นางสาวบุษฎี สันติพิทักษ์
รองอธิบดีกรมอาเซียน


ขอเรียนในเบื้องต้นว่าประชาคมอาเซียนในปี 2558 นั้น ไม่ได้จบแค่ 31 ธันวาคม 2558 อาเซียนจะยังคงอยู่กับเรา ไปอีกนาน ฉะนั้นอย่าเพิ่งเบื่ออาเซียน เพราะอย่างไรท่านก็จะเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในด้านการศึกษาที่จะเตรียม ความพร้อมในด้านของคณะนักเรียนและด้านการเรียนการสอนที่จะทำให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ มีวิสัยทัศน์ มีโลกทัศน์ที่เปิดกว้างและพร้อมรับอาเซียน ท่านอาจจะมีคำถาม

  1. ทำไมปรากฏการณ์ของอาเซียนนั้นต้องมีสื่อ มีข่าวทั้งทางโทรทัศน์ และตามหนังสือพิมพ์ต่าง ๆ
  2. ทำไมเราต้องเรียนรู้อาเซียน ไม่มีอาเซียนเราอยู่ได้หรือไม่
  3. ไทยเตรียมพร้อมหรือไม่ ปลายปี 58 ที่จะมาถึง

ขออนุญาตเรียนว่าปี 58 นี้ ก็จะเป็นอีกก้าวขั้นตอนหนึ่งของการรวมตัว เป็นที่ทราบดีว่าเมื่อ 5 – 6 ปี ที่ผ่านมา เมื่อมูลนิธิอาเซียนที่ตั้งอยู่ที่กรุงจาการ์ต้าได้สำรวจความเห็นว่าระดับความรู้ในประเทศต่างๆของสมาชิกอาเซียนว่าระดับความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับอาเซียนเป็นอย่างไร ปรากฏว่า ณ ขณะนั้นประเทศไทยอยู่ลำดับท้าย ๆ ด้วยคำถามพื้นฐานที่ว่า ประเทศอาเซียนมีเมืองหลวงอยู่ที่ไหน ธงชาติเป็นอย่างไร คำถามเหล่านี้ปรากฏว่าเรารั้งท้าย ๆ ประเทศแรกที่ได้คะแนนสูงสุด คือ ประเทศลาว แต่พอมา ณ ขณะนี้ความตื่นตัวของเรามีมาก เพราะเมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมาด้วยความที่ร่วมมือร่วมใจกันในแง่ของทั้งรัฐบาลและภาคส่วนต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นภาคเอกชน ภาคการศึกษา แล้วก็ภาคประชาสังคมต่าง ๆ ให้รับทราบว่าเรื่องของอาเซียนนั้นจริงๆแล้วไม่ใช่เรื่องไกลตัวเลยเพียงแต่ว่าเราอาจจะไม่ได้ให้ความสนใจ ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะภาครัฐไปประชุมอาเซียนก่อนที่จะมีกฏบัตรอาเซียนเมื่อปี 51นั้น เรามีการประชุมกันปีละประมาณ 800 ครั้ง ก็คือระดับคณะทำงานรายสาขา ตั้งแต่ระดับสายการเมือง สายเศรษฐกิจ สายสังคม จนกระทั่งถึงระดับผู้นำ เมื่อมีกฏบัตรอาเซียน ขึ้นมาเพราะมีธรรมนูญจัดตั้งอาเซียน ตอนนี้การประชุมมีถึง 1,200 ครั้ง

ในเรื่องของการบริหารจัดการเป็นประเด็นท้าทาย แต่ความท้าทายที่สำคัญที่สุดคือการถ่ายทอดการตัดสินใจ การที่ไปรับพันธกรณีต่าง ๆ ภายใต้ความตกลง หรือว่าจะขับเคลื่อนประเทศไทยโดยการใช้โอกาสการเข้าสู่อาเซียนนั้นอย่างเต็มที่ได้อย่างไร หัวใจสำคัญก็คือเรื่องของ การสื่อสารการเผยแพร่ความรู้ การสร้างความตระหนักรู้ขณะเดียวกัน ต้องรับทราบข้อมูลที่สร้างการรับรู้อย่างเท่าเทียมกันในเชิงพัฒนาด้วยการด้วยส่วนนี้เป็นหน้าที่ของทั้งกรมอาเซียนและ หน่วยงานหลักที่ดูแลเรื่องความร่วมมือของประชาคมอาเซียน ประกอบไปด้วยทั้งการเมืองความมั่นคง เสาเศรษฐกิจและเสาสังคมและวัฒนธรรม ในแต่ละวันที่รับทราบข้อมูลข่าวสารนั้น จะมีแต่ข่าวที่พูดถึงเสาเศรษฐกิจประชาคมอาเซียน จริง ๆ แล้วอาเซียนมีมากกว่า คำว่า ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน แม้ว่าเศรษฐกิจอาเซียนนั้นเป็นตัวที่ทำให้ภูมิภาคนี้มีความเจริญรุ่งเรือง แต่ถ้าไม่มีการพัฒนาหรือขับเคลื่อนในอีกสองเสา ความยั่งยืนก็ไม่เกิดขึ้น ฉะนั้นเมื่อกล่าวถึงอาเซียน โดยเฉพาะภาครัฐ เช่น ทางกระทรวงการต่างประเทศ รัฐบาลอยากจะให้เน้นย้ำว่า เป็นการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในทั้งสามด้านอย่างพร้อมเพรียงกัน การก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี 58 ประเทศไทยเองก็ไม่ได้มองแค่ปี 58 ตอนนี้มีการวางแผนว่า ไทยจะก้าวไกลไปกว่าปี 58 ได้อย่างไร ฉะนั้นแผนปฏิบัติการหรือโครงงานต่าง ๆ ที่ปฏิบัติกันภายในปีงบประมาณปี 58 จะมีโครงการที่ต่อเนื่องต่อไปถึงปี 61หรือต่อไปอีก ในการสร้างพื้นฐานความรู้ในเชิงวิชาการในระดับของโรงเรียนที่จะเป็น พื้นฐานในการเข้าสู่อาเซียน

ในโอกาสนี้อยากจะเผยแพร่ข้อมูล ในระดับที่จะเป็นประโยชน์ไม่มากก็น้อย เพื่อให้นำไปใช้ในการประกอบการทำหลักสูตรปรับการเรียนการสอนในพื้นที่ของท่านเอง

แนวคิดเรื่อง การจัดตั้งอาเซียน ซึ่งเกิดขึ้นโดย ปฏิญญากรุงเทพ ที่ไทยได้ลงนามเมื่อ 8 สิงหาคม 2510 ที่วังสราญรมย์ขณะนั้น โลกแบ่งเป็นสองขั้วหลักๆ มีการเผชิญหน้าระหว่างค่ายสังคมนิยมคอมมิวนิสต์กับค่ายเสรีนิยมประชาธิปไตย มีผลทำให้เกิดการแพร่ขยายอำนาจมีการสู้รบกัน ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความสำคัญในเชิงยุทธศาสตร์ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ประเทศไทยจะย้ายจากที่ตั้งของเราไปไหนไม่ได้ นอกจากคิดหาทางว่าจะทำอย่างไร ให้รอดจากการตกไปอยู่ในค่ายของสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ท่านผู้นำในสมัยนั้นมีวิสัยทัศน์กว้างไกลว่าจะทำอย่างไร เพื่อความอยู่รอดและสามารถรับมือกับความท้าทายในระดับโลกได้ จึงมองไปรอบๆแล้วจึงคิดว่ามาหาพวกดีกว่า ท่านก็ไปคุยกับประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ เมื่อหารือกันแล้วก็มาลงนามในเอกสารสำคัญฉบับนี้ แสดงเจตนารมณ์ว่าเราจะนำพาภูมิภาคนี้ให้เกิดสันติสุขมีเสถียรภาพมีความมั่นคง

สิ่งที่จะนำพาให้ภูมิภาคนี้มีความเจริญรุ่งเรืองได้นั้น พื้นฐานทางเศรษฐกิจ นับเป็นปัจจัยขับเคลื่อนที่สำคัญอย่างยิ่ง เพราะว่าเราจะทำอย่างไรให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ภายใต้กฏกติกาที่มีอยู่ เราต้องอาศัยเศรษฐกิจการค้า การลงทุนเป็นตัวขับเคลื่อน ในสมัยนั้นแต่ละประเทศก็จะใช้จุดแข็งของตน คือ ด้านเกษตรกรรม ซึ่งในช่วงเวลานั้นมีความเจริญ ก้าวไกลเป็นอย่างมากเพราะมีเทคโนโลยีทางการเกษตรเข้ามา ดังนั้น เกษตรกรรมแปรรูปจึงเป็นหัวใจสำคัญหนึ่งในการ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของภูมิภาค แต่ประเด็นละเลยไม่ได้มองเลย คือความแตกต่างของห้าประเทศนี้ มีเรื่องของศาสนา สังคม วัฒนธรรม ภาษา จะทำอย่างไรเพื่อใช้ลดช่องว่างของปัญหาเหล่านี้ เพื่อที่จะเป็นพื้นฐานในการสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างกัน และพบว่าสิ่งที่เป็นหัวใจสำคัญก็ คือ ตัวประชาชนนั่นเอง การที่เราจะมีสังคมที่มีความเอื้ออาทรไม่เฉพาะภายในประเทศ แต่ว่ารับรู้ความเป็นไปภายในแต่ละประเทศด้วย สิ่งเหล่านี้จะเชื่อมโยงให้ประชาชนคนอาเซียนมีพื้นฐานที่แข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น ดังนั้นการรวมตัวจะไม่ได้เป็นเฉพาะการรวมตัวเพื่อสร้างพลังอำนาจในการต่อรองของกลุ่ม แต่การที่จะต้องรับมือกับเจรจาต่อรองในประเด็นท้าทายทั่วไปกับประเทศมหาอำนาจ ซึ่งขณะนั้นเริ่มจึงเริ่มเกิดแนวคิดเกี่ยวกับภูมิภาคนิยม ประเทศขนาดเล็ก ขนาดกลางจึงรวมตัวกันมากขึ้น

ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของเราก็มีการรวมตัวภายใต้แนวคิด ภูมิภาคนิยม คือ การรวมตัวเป็นอาเซียนนั่นเอง การรวมตัวกันนั้นเราก็ไม่ได้คบค้าสมาคมกันแค่ใน 5 ประเทศ จึงมองว่าเราจะทำอย่างไรให้ยั่งยืน จึงเกิดการปฏิสัมพันธ์กับประเทศภายนอกเผื่อจะทำให้ภูมิภาคนี้มีเสถียรภาพมากยิ่งขึ้น ดังนั้นในส่วนของประเทศไทยเอง เราก็สะท้อนความเข้มแข็งภายในประเทศของเรา กับต่างประเทศ ไทยเป็นประเทศเปิดติดต่อคบค้ากับทุกประเทศในโลกนี้ การที่ไทยติดต่อกับประเทศต่าง ๆ ก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่ทำให้ประเทศมีเอกราชมาถึงทุกวันนี้

ด้านเศรษฐกิจและสังคมไทยมุ่งมั่นที่จะมีความเข้าใจอันดีในระหว่างประเทศสมาชิก โดยเฉพาะประเทศไทยมีชายแดนติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้านถึง 4 ประเทศ ไทยจึงให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการที่จะลดความหวาดระแวง สร้างความไว้เนื้อเชื่อใจในทุกด้าน โดยการมีนโยบายที่สำคัญและมาตรการรองรับความมั่นคงทางชายแดน ขณะเดียวกันไทยก็ตระหนักว่าการไปมาหาสู่ การติดต่อระหว่างประชาชนกับประชาชนจะเป็นส่วนสำคัญที่มุ่งไปสู่ความผาสุกของประชาชน

ประเด็นที่หนึ่ง เรื่องของแรงงานฝีมือได้มีการตกลงกันอย่างชัดเจน เพื่อที่จะให้มีเสรีในการเคลื่อนย้ายแรงงานฝีมืออย่างเสรีในอนาคต ขณะนี้ ยังไม่ได้มีการเคลื่อนย้ายอย่างเสรีโดยอัตโนมัติ ตัวอย่างเช่น ท่านมีใบรับรองวิชาชีพใน 7 – 8 สาขา ที่ได้กล่าวมา ไม่ได้หมายความว่าท่านจะสามารถยกกระเป๋าเข้าไปทำงานในประเทศในอาเซียนได้ทันที ยังคงมีกฎเกณฑ์ของประเทศนั้นๆ ในการรับแรงงานเข้ามาทำงาน เช่น มีคุณหมอจากต่างประเทศอยากมาทำงานในประเทศไทย ก็จะมีข้อกำหนดอันหนึ่งระบุว่า จะต้องสอบภาษาไทยผ่าน เป็นต้น เพราะฉะนั้นโจทย์เกี่ยวกับแรงงานฝีมือก็คือว่า ทำอย่างไรให้แรงงานฝีมือใน 7 – 8 สาขาวิชามีความเพียงพอต่อความต้องการของประเทศ แต่ข้อดีของการเคลื่อนย้ายแรงงานวิชาชีพ คือ คุณภาพหรือมาตรฐานของแรงงานเหล่านี้ก็จะมีมาตรฐานที่สูงยิ่งขึ้นอันนี้ก็จะมาซึ่งความก้าวหน้าในการรักษาพยาบาล การบริการด้านสุขภาพซึ่งจะเป็นประโยชน์ทั้งสิ้น

เรื่องอุตสาหกรรมหลักของไทย ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ อาหาร สิ่งทอ การเกษตร อุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องเราขาดแคลนแรงงานที่ไม่มีฝีมือ เมื่อเราไม่มีแรงงานที่ไม่มีฝีมือเราจึงต้องนำเข้าเรายังใช้กฏระเบียบของกระทรวงแรงงานในการจดทะเบียน การที่จะต้องมีหนังสือประกอบการมาทำงานของแรงงานที่ไม่มีฝีมือเหล่านั้น ซึ่งส่วนใหญ่มาจากประเทศเพื่อนบ้าน ตอนนี้มีประมาณ 3,000,000 คน ที่จดทะเบียนและไม่จดทะเบียน ดังนั้นสิ่งที่รัฐบาลภายใต้คสช.ได้เร่งดำเนินการก็คือ ต้องทำให้ถูกระบบเสียก่อน พอถูกระบบแล้วเราจึงจะสามารถจ้างคนได้ จัดสรรคนได้ พัฒนาฝีมือแรงงานได้ในเชิงของคุณภาพที่จะไปป้อนให้กับอุตสาหกรรมหลักๆของเราได้ เมื่อจดทะเบียนแล้วก็จะดูแลในเรื่องของสวัสดิการ ค่าจ้างต่อไป ค่าแรงงานวันละ 300 บาทก็เป็นปัจจัยจูงใจให้คนเหล่านี้มาทำงานในประเทศไทยมากยิ่งขึ้น ซึ่งในภาพรวมอุตสาหกรรมเรายังต้องพึ่งพาคนเหล่านี้อยู่มาก

ประเด็นที่สอง เมื่อเข้ามาทำงานในประเทศไทยก็ ต้องมีเรื่องของการบริการสาธารณสุข การดูแลเรื่องความปลอดภัย เรื่องความมั่นคงและการศึกษา ที่รัฐบาลได้ให้ความสำคัญของการศึกษาระดับอุดมศึกษา ระดับอาชีวศึกษา การขับเคลื่อนวิชาชีพต่าง ๆ ให้มีการยอมรับในเชิงค่านิยมมากยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันความต้องการในเชิงของวิชาชีพต้อง เตรียมการรองรับที่ดี ในระยะแรก ระยะยาว ระยะปานกลางนั้นจะต้องคิดวางแผนกันให้ดีระหว่างภาคการศึกษากับนโยบายของทางรัฐบาลเองว่าจะก้าวเดินต่อไปอย่างไร แต่ท้ายที่สุดคงหนีไม่พ้นการทำงานที่ต้องเชื่อมโยงกันในส่วนภาคเอกชนเรื่องของการเป็นหุ้นส่วน และภาคการศึกษาจะเป็นหัวใจสำคัญในการผลิตบุคลากร ฉะนั้นสามเสาของอาเซียนจะต้องเดินหน้าไปด้วยกัน แต่ท้ายที่สุดสิ่งที่จะทำให้สามเสาเดินหน้าไปได้หรือความก้าวหน้าของอาเซียนหรือของประเทศไทยนั้นก็คือทรัพยากรมนุษย์นั่นเอง

เรื่องคุณธรรม 12 ประการ อยากให้อยู่อย่างจีรังยั่งยืนเป็นปัจจัยสำคัญที่จะไปต่อยอดกับเรื่องของนโยบายพัฒนาประเทศ ที่ไม่สามารถมองอย่างแยกส่วนได้ต้องมองในเชิงยุทธศาสตร์ที่จะขับเคลื่อนไปด้วยกัน ประเทศไทยมีจุดได้เปรียบคืออยู่ในภาคพื้นหลักของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไทยอยู่ตรงกลาง ในเรื่องของความเชื่อมโยงภายในอาเซียนไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เรื่องของการค้า การบริการ การพัฒนาชายแดน ด้วยที่ตั้งของประเทศไทยจะทำให้การพัฒนามีความก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว อีกเรื่องหนึ่งที่ต้องเน้นคือเรื่องของภาษาในกลุ่มประเทศอาเซียน ถ้ามองไปรอบ ๆ จะตระหนักว่าประเทศเพื่อนบ้านรู้ภาษาไทยมากกว่าที่ไทยจะรู้ภาษาของเขา เรียนรู้ภาษาประเทศเพื่อนบ้านจะทำให้เราเข้าถึงวัฒนธรรม วรรณกรรม นโยบายต่าง ๆ ที่เขาเผยแพร่

ไทยมีปฏิสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน มีเขตการค้าเสรีภายในอาเซียน 10 ประเทศ เริ่มเจรจาอาเซียนบวกกับจีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และอินเดียเราจะมีเขตการค้าเสรีร่วมกัน โอกาสในการค้าขายก็จะเพิ่มขึ้นโดยสินค้าและฐานการผลิตต่าง ๆ จะเคลื่อนโดยมีศูนย์กลางอยู่ที่อาเซียนประเทศไทยก็จะได้รับประโยชน์จากตรงนี้ ดังนั้น สิ่งที่จะเป็นความท้าทาย คือ เรื่องของโอกาส การสร้างคน การบริการ และการค้าการลงทุนโดยเฉพาะพื้นฐานของการเมืองที่ต้องมีเสถียรภาพอันนี้เป็นหัวใจสำคัญ แต่ในเรื่องของการสร้างความเข้มแข็งในเชิงของสังคม วัฒนธรรม ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับประเทศสมาชิกในอาเซียนในการขับเคลื่อนต่างๆ เหล่านี้จะต้องเตรียมความพร้อมของเยาวชนคนรุ่นต่อไป ให้รับมือกับประเด็นท้าทายเหล่านี้ได้ดีขึ้น ทุกจังหวะทุกก้าวขั้นตอนจึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง

การมีกฎบัตรอาเซียนทำให้มีการจัดตั้งอาเซียนอย่างเป็นทางการ คำถามต่อไป คือ จะทำอย่างไรให้ประชาชนในอาเซียนเป็นศูนย์กลางในการกำหนดนโยบายของรัฐบาล นั่นคือ การกำหนดโดยรับฟังเสียงของภาคเอกชน ภาคการศึกษา ภาคประชาสังคมในการขับเคลื่อน เพราะว่าประชาชนเป็นศูนย์กลางต้องได้รับผลประโยชน์ในการเดินหน้าเข้าสู่อาเซียนมีพื้นฐานของความโปร่งใส ขณะเดียวกันต้องส่งเสริม คุณค่าทางประชาธิปไตย และ ส่งเสริมในเรื่องสิทธิมนุษยชน ขณะนี้ไทยได้รับรองปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแล้ว เรามีการจัดตั้งคณะกรรมาธิการระหว่างอาเซียนว่าด้วย สิทธิมนุษยชน พยายามจะดึงเรื่องสิทธิมนุษยชนไปอยู่ในหลักสูตรการเรียนการสอนร่วมกับทางสกอ.และก็มีเรื่องของสพฐ.ด้วย ให้ผู้คนรับทราบสิทธิซึ่งอ้างอิงหลักเกณฑ์ตามมาตรฐานสากล เพื่อที่จะทำให้ประเทศเรานั้นมีความเป็นสากล ซึ่งต้องอาศัยหลักเกณฑ์การอยู่ร่วมกันกับสมาชิกระหว่างประเทศเป็นหลัก และทำอย่างไรให้มีการปกครองในกับของการเคารพหลักนิติรัฐมากยิ่งขึ้น

ประเด็นที่มีความก้าวหน้าน้อยที่สุดในอาเซียน คือ เรื่องของธรรมาภิบาล เรื่องของการสร้างความโปร่งใส การขจัดธุรกิจคอรัปชั่นจะทำอย่างไร ในส่วนของภาคการศึกษาก็มีโครงการต่าง ๆ เช่น โตไปไม่โกงของกรุงเทพมหานคร เป็นต้น แต่นักเรียน เยาวชนที่จะโตไปในอนาคตจะต้องได้รับการขัดเกลาตั้งแต่เด็ก ในเรื่องของจิตอาสาก็เช่นเดียวกัน ถ้าเด็กสามารถมีจิตสำนึกต่อส่วนรวมได้ดียิ่งขึ้นนั้นอันนี้ก็จะเป็นจุดต่อยอดทำให้พื้นฐานมีความเข้มแข็ง หลักการเหล่านี้สอดคล้องอยู่แล้วกับโครงการของมูลนิธิยุวทูตความดี แต่เราต้องมาเชื่อมต่อให้ได้กับนโยบายของการพัฒนาประเทศที่จะทำให้มีความก้าวหน้าอย่างยั่งยืนในเรื่องการตอบสนองในความกินดีอยู่ดีของประชาชนที่เกี่ยวข้องกับด้านเศรษฐกิจ จะมีโอกาสอย่างไรบ้าง ที่จะเพิ่มรายได้ต่ออาชีพ ต่อครอบครัว ต่อชุมชน เศรษฐกิจเป็นตัวสำคัญของทุกชุมชน การเป็นตลาดเดียวกัน การลดช่องว่าง การสร้างโครงสร้างพื้นฐาน การอำนวยความสะดวกการบริการ การค้าการลงทุน เราเชื่อมต่อกับโลกซึ่งนับเป็น สิ่งจำเป็นที่จะต้องผลิตคนหรือแรงงานที่มีฝีมือให้เพียงพอ หรือส่งเสริมเทคโนโลยีหรือความก้าวหน้าทางด้านวิทยาการต่าง ๆ ที่มีให้มากขึ้น ก้าวไกลยิ่งขึ้น จำเป็นต้องอาศัยการเรียนรู้ บางวิชาที่ต้องเรียนรู้ในห้อง เรียนรู้นอกห้องจะมีวิธีการสอนเด็กอย่างไร การจุดประกายให้เด็กมีความเชี่ยวชาญด้านใดด้านหนึ่ง และส่งเสริมต่อยอด เช่น ถ้ามีบุคลากรมีความรู้ในภาษา บาฮาซ่า ให้ทุนไปเรียนจนถึงระดับอุดมศึกษาได้ไหม และปรับทัศนคติไม่ใช่แค่ทำงานในประเทศไทย แต่มีการเคลื่อนย้ายไปในประเทศอื่นๆ แต่ท้ายที่สุดแล้วจะทำอย่างไร ให้ตัวโครงการที่ทำลงไปสู่ตัวผู้รับ ซึ่งก็คือนักเรียน ดิฉันคิดว่าจะเป็นปัจจัยที่ท้าทายในช่วงระยะ 3 – 5 ปีข้างหน้า เพราะอาเซียนไม่ได้จบแค่ที่ปี 58 เรามองไว้ไกลกว่านั้นเพราะฉะนั้นการเตรียมความพร้อมเป็นสิ่งสำคัญ ไม่ใช่แค่เฉพาะภาครัฐ แต่ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลาย ๆ ฝ่าย

*ถอดความจากการบรรยายพิเศษในการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ โครงการเยาวชนคนดี รู้คุณแผ่นดิน ปี 2557 วันที่ 29 กันยายน 2557 ที่ โรงแรมนารายณ์  

ต่อยอดความรู้ สู่การปฏิบัติ

คำกล่าวเปิดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ โครงการต้นกล้าความดี ตามวิถีพอเพียง

พลังความรู้นำเยาวชนสู่ยุค 4.0 4.0 เป็นคำที่สะท้อนของวิวัฒนาการ จากยุคที่เราเคยล่าสัตว์ ทำการเกษตร บัดนี้ก็มาถึงยุคที่เราจะต้องสร้างและขับเคลื่อนสังคมด้วยนวัตกรรม

ผู้บริหารกับการบ่มเพาะเยาวชนให้เป็นต้นกล้าความดี ในวิถีพอเพียง

พลังความรู้นำเยาวชนสู่ยุค 4.0 4.0 เป็นคำที่สะท้อนของวิวัฒนาการ จากยุคที่เราเคยล่าสัตว์ ทำการเกษตร บัดนี้ก็มาถึงยุคที่เราจะต้องสร้างและขับเคลื่อนสังคมด้วยนวัตกรรม

พลังความรู้นำเยาวชนสู่ยุค 4.0

พลังความรู้นำเยาวชนสู่ยุค 4.0 4.0 เป็นคำที่สะท้อนของวิวัฒนาการ จากยุคที่เราเคยล่าสัตว์ ทำการเกษตร บัดนี้ก็มาถึงยุคที่เราจะต้องสร้างและขับเคลื่อนสังคมด้วยนวัตกรรม

keyboard_arrow_up