Skip to main content

คณะยุวทูตความดี เยือนสหพันธรัฐรัสเซีย

29 สิงหาคม 2566 - 9 กันยายน 2566
ผู้เข้าชม 5,078

มูลนิธิยุวทูตความดี ร่วมกับสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงมอสโก ดำเนินโครงการเสริมสร้างประสบการณ์เรียนรู้ และสานสัมพันธ์สร้างมิตรไมตรีของยุวทูตความดีในสหพันธรัฐรัสเซีย คณะเดินทางไปเยือนฯ ระหว่างวันที่ 29 สิงหาคม – 9 กันยายน 2566 คณะฯ จำนวน 9 คน ประกอบด้วย นักเรียน 7 คน ครู 2 คน คณะยุวทูตฯ มาจาก 9 โรงเรียน ใน 9 จังหวัดทั่วทุกภาคของประเทศ ระดับชั้น ป.6 – ม.3 อายุเฉลี่ย 12 – 15 ปี ได้รับการคัดเลือกจากค่ายอบรม ต้นกล้าความดี ก้าวสู่สากล ซึ่งจัดขึ้นที่อุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธร จังหวัดเพชรบุรี เมื่อเดือนเมษายน 2566

ในวันที่ 27 – 28 กันยายน 2566 มูลนิธิฯ ได้จัดอบรมเตรียมความพร้อมให้คณะก่อนเดินทาง โดยมีผู้อำนวยการกองยุโรปตะวันออก เจ้าหน้าที่จากกรมยุโรป และกรมการกงสุล ที่เคยได้ศึกษาและประจำการที่ประเทศรัสเซีย มาให้ความรู้ ประวัติศาสตร์ ความสัมพันธ์ไทย – รัสเซีย อาหาร วัฒนธรรม และภาษา โดยมี ผอ.จันทร์ทิพา ภู่ตระกูล ผู้อำนวยการมูลนิธิยุวทูตความดี ได้กล่าวให้โอวาทกับคณะยุวทูตฯ ความว่า “ให้ศึกษารายละเอียดข้อมูลต่าง ๆ  ให้ครบถ้วน เปิดหู เปิดตา เปิดใจเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ที่จะเกิดขึ้น รู้จักแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้ สร้างสัมพันธภาพที่ดีกับเยาวชนรัสเซีย รวมทั้งให้ทุกคนแสดงความสามารถอย่างเต็มที่ ทั้งในด้านการร้องเพลง การกล่าวสุนทรพจน์เกี่ยวกับประเทศไทยและเศรษฐกิจพอเพียง การนำเสนอวัฒนธรรมไทย ไม่ว่าจะเป็น นาฏศิลป์ มวยไทย และการวาดรูป

ในการเยือนครั้งนี้ คณะฯ ได้เข้าเยี่ยมคารวะ เอกอัครราชทูตศศิวัฒน์ ว่องสินสวัสดิ์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงมอสโก ที่สถานเอกอัครราชทูต และได้รับโอวาทจากท่านเอกอัครราชทูต ความว่า “ให้ยุวทูตฯ ตั้งเป้าหมายของตนเอง ค่อยๆ ศึกษาเรียนรู้ตนเอง ทำในสิ่งที่ตนเองสนใจ ฝึกหาประสบการณ์ ลองทำในสิ่งที่ไม่เคยทำ เพื่อพัฒนาตนเอง เพราะทุกคนมีความสามารถ และจะสามารถประสบความสำเร็จได้จากสิ่งที่ตนเองถนัด” 

ทั้งนี้ท่านเอกอัครราชทูตได้เปิดโอกาสให้คณะยุวทูตฯ สอบถามถึงประสบการณ์การทำหน้าที่เอกอัครราชทูต เยี่ยมชมห้องทำงานของเอกอัครราชทูตฯ และการทำงานของข้าราชการสถานเอกอัครราชทูตฯ ในแผนกต่าง ๆ นอกจากนี้ ยุวทูตความดียังได้แสดงความสามารถพิเศษทั้งในด้านการร้องเพลง ความสามารถด้านภาษาอังกฤษ การรำมโนราห์ และการสาธิตมวยไทย ให้ข้าราชการสถานเอกอัครราชทูตฯ และทีมประเทศได้รับชม

คณะยุวทูตฯ ได้สานสัมพันธ์แลกเปลี่ยนประสบการณ์เรียนรู้กับนักเรียนระดับมัธยมศึกษาในกรุงมอสโกและนครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก จำนวน 2 แห่ง และภาควิชาภาษาไทย 2 มหาวิทยาลัย ดังนี้ 

โรงเรียน 1520 Named after the Kaptsovs กรุงมอสโก  หนึ่งในโรงเรียนเก่าแก่ที่สุดของกรุงมอสโก ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2435 เป็นโรงเรียนที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล เปิดสอนในการศึกษาภาคบังคับของรัสเซีย คือเริ่มเรียนที่อายุ 7 – 18 ปี โรงเรียนมีห้องปฏิบัติกิจกรรมที่หลากหลาย และในเวลาชั่วโมงเรียน นักเรียนมีความตั้งใจเรียนอย่างเต็มที่ ไม่สามารถรบกวนเวลาขณะเรียนได้ และนักเรียนในชั้นประถมศึกษามีสิทธิส่วนบุคคลสูง ถ้าหากจะปฏิบัติกิจกรรมใด นอกเหรือจากที่ในตารางเรียน ต้องแจ้งผู้ปกครองและของอนุญาตก่อนทุกครั้ง  ทางโรงเรียนให้การต้อนรับคณะฯ โดยนำเข้าร่วมกิจกรรม วันเปิดภาคเรียนวันแรก (1 กันยายน) หรือ Knowledge Day ที่นักเรียนจะเตรียมดอกไม้มามอบให้คุณครู เปรียบเสทือนพิธีไหว้ครูของไทย ที่แสดงถึงความเคารพ มอบตัวเป็นศิษย์ที่ดีของคุณครู 

มหาวิทยาลัย MGIMO กรุงมอสโก มหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงด้านการทูตของรัสเซีย คณะอาจารย์และพี่นักศึกษาได้กล่าวต้อนรับคณะยุวทูตฯ เป็นภาษาไทย ได้นำเสนอเกี่ยวกับรัสเซีย ในเรื่องอาหาร ประเพณี การแต่งกาย เพลง การ์ตูน และมีการตั้งคำถามให้คณะยุวทูตฯ เล่นเกมตอบคำถาม โดยใช้ภาษาไทยในการสื่อสาร ซึ่งพี่นักศึกษาสามารถสื่อสารภาษาไทยได้เป็นอย่างดี ออกเสียงภาษาไทยได้อย่างชัดเจน และมีการเตรียมความพร้อม ความมุ่งมั่น ทุ่มเท เพื่อจะสื่อสารกับคณะยุวทูตฯ

โรงเรียน Gymnasium No.56 นครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก โรงเรียนที่ใหญ่ที่สุดในนครเซ็นปีเตอร์สเบิร์ก  และได้รับการประเมินมาตรฐานเป็นโรงเรียนที่ดีที่สุด มีผู้บริหารโรงเรียนและคณะครูให้การต้อนรับคณะฯ และนำคณะเยี่ยมชมบรรยากาศการเรียนการสอนในห้องเรียน ห้องปฏิบัติการต่าง ๆ ซึ่งโรงเรียนแห่งนี้ มีจำนวนนักเรียนต่อห้องเรียนไม่เกิน 30 คน มีสื่อวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้เทคโนโลยีทันสมัย ห้องสื่อการเรียนรู้ ภาษาสเปน ภาษาอังกฤษ ได้ถูกจัดตกแต่งบรรยากาศให้เสมือนจริงกับประเทศนั้น ๆ และการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ทุกกิจกรรมต้องตรงต่อเวลา นักเรียนต้องได้รับความรู้อย่างเต็มที่ เต็มเวลา ทั้งนี้ คณะยุวทูตความดีได้มีกิจกรรมแลกเปลี่ยนระหว่างกันคือ นักเรียนรัสเซียได้แสดงเต้นรำรัสเซียแบบดั้งเดิม และยุวทูตฯ ได้เชิญชวนนักเรียนรัสเซียร่วมรำวงเพลงลอยกระทง   

มหาวิทยาลัยเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก  ก่อตั้งโดยจักรพรรดิปีเตอร์ที่ 1 ในค.ศ 1724 เป็นมหาวิทยาลัยที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศรัสเซีย เดิมชื่อมหาวิทยาลัย เลนินกราด  มีคณะที่เปิดสอน 12 คณะ  โดยคณะยุวทูตความดี ได้ ร่วมทำกิจกรรมกับพี่นักศึกษา ภาควิชาภาษาไทย คณะเอเชียและอัฟริกันศึกษา แลกเปลี่ยนข้อมูลความรู้เกี่ยวกับอาหารไทย – รัสเซีย การนำเสนอวัฒนธรรมไทย การตอบคำถามเกี่ยวกับรัสเซีย ฯลฯ ทั้งนี้ คณะยุวทูตฯ ยังได้เยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ของเมนเดเลเยฟ นักเคมีชาวรัสเซีย ผู้คิดค้นตารางธาตุและผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับน้ำมันอีกด้วย

ในการเยือนโรงเรียนและมหาวิทยาลัย คณะยุวทูตความดีได้นำเสนอเรื่องราวของ เมืองไทยเมืองยิ้ม เศรษฐกิจพอเพียง ด้วยภาษาอังกฤษที่ชัดเจน คล่องแคล่ว รวมทั้งแสดงความสามารถในการแสดงทางวัฒนธรรม อาทิ รำมโนราห์ ศิลปะมวยไทย การขับร้องเพลงไทย อังกฤษ และรัสเซีย สร้างความชื่นชมและชื่นชอบเป็นอย่างมาก การแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมอาหาร คณะฯ ได้นำเสนอขนมของไทย รวมทั้งได้แลกเปลี่ยนของที่ระลึกและช่องทางการติดต่อระหว่างกัน นับเป็นการพัฒนาโลกทัศน์และขยายฐานแห่งมิตรภาพระดับเยาวชนของทั้งสองประเทศ

คณะยุวทูตฯ ได้ศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับวิทยาการที่ทันสมัย ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมของรัสเซียผ่านพิพิธภัณฑ์และสถานที่สำคัญ อาทิ

กรุงมอสโก  คณะได้เยี่ยมชม จัตุรัสแดง  ลานกว้างทรงจัตุรัสที่สวยงามที่สุดในโลก เป็นพื้นที่สวนสนามของกองทัพเพื่อแสดงแสนยานุภาพทางการทหาร และเป็นสถานที่จัดงานเฉลิมฉลองทางศาสนาหรือทางการเมือง 

พิพิธภัณฑ์เครมลิน (Moscow Kremlin Museums) ศูนย์กลางที่สำคัญและเก่าแก่ที่สุดของกรุงมอสโก ศึกษาประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมรัสเซีย ที่มีการจัดแสดงทรัพย์สมบัติล้ำค่าต่าง ๆ ของราชวงค์ในอดีต ทั้งเครื่องทรง มงกุฎ บัลลังค์ และเครื่องใช้ต่าง ๆ มากกว่าสองล้านชื้น

ศูนย์ศิลปะ Tsereteli Art Gallery  คณะร่วมกิจกรรม master class ด้านศิลปะ โดย Mr. Zurab Tseretelli ประธาน Russian Academy of Arts และศิลปินแห่งชาติรัสเซีย ผู้สร้างอนุเสาวรีย์ Peter the Great สอนศิลปะด้วยตนเองอย่างใกล้ชิด และได้ชื่นชมผลงานศิลปะของน้องแมนยู (เด็กชายธนาธรณ์ นุกิจ จากโรงเรียนอนุบาลเลิงนกทา จังหวัดยโสธร) ซึ่งได้มอบภาพวาดเส้นลายไทย The King of Naka” ให้กับศิลปินแห่งชาติด้วย

พิพิธภัณฑ์ดนตรี (Russian National Museum of Music) ศึกษาความเป็นมาและประเภทเครื่องดนตรีต่างๆ จากทั่วโลก

ศูนย์นวัตกรรม Technograd  คณะยุวทูตฯ ร่วมกิจกรรม workshop เรียนรู้โปรแกรมด้าน IT และเขียนโปรแกรมในคอมพิวเตอร์ เพื่อการออกคำสั่งหุ่นยนต์

ท้องฟ้าจำลอง Planetarium Moscow เป็นท้องฟ้าที่เก่าแก่ที่สุดในรัสเซีย ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2471 เป็นศูนย์กลางการศึกษาที่สำคัญ จัดแสดงอุปกรณ์ทางเทคโนโลยี วิทยาศาสตร์ และอวกาศ   มีการทดลองที่ทันสมัย ให้ได้เรียนรู้และปฏิบัติจริง 

นครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก  คณะได้เยี่ยมชม มหาวิหาร Savior on the Spilled Blood  หรือ โบสถ์แห่งหยดเลือด สร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์แด่พระเจ้าซาร์อเล็กซานเดอร์ที่ 2 ผู้ประกาศเลิกทาส ซึ่งถูกลอบปลงพระชนม์ เป็นโบสถ์รูปทรวงหัวหอม ภายในประดับไปด้วยกระเบื้องโมเสกสีสันสดใส วิจิตรตระการตา

มหาวิหาร St. Isaac’s  สร้างในสมัยของพระเจ้าปีเตอร์มหาราช  เพื่อใช้เป็นสถานที่ทำพิธีทางศาสนา เป็นโบสถ์ออร์โธดอกซ์แห่เดียวที่ตกแต่งด้วยกระจกสี และมียอดโดมที่ทำจากทองคำแท้กว่า 100 กิโลกรัม สถาปัตยกรรมเป็นแบบเรเนซองส์และบาร็อก ได้รับการยกย่องว่าเป็นโบสถ์ที่งดงามมากที่สุดในโลก

พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ Smolny เป็นสถานที่ราชการของรัฐบาลของนครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ซึ่งมีห้องใต้ดินเป็นพิพิธภัณฑ์จำลอง ที่เคยใช้เป็นฐานทัพและที่กำบังในสมัยสงครามโซเวียต 

พิพิธภัณฑ์ Peterhof State Museum- Reserve พระราชวังฤดูร้อน สร้างขึ้นในสมัยของพระเจ้าปีเตอร์มหาราช เป็นสถาปัตยกรรมบาโรก งดงามด้วยสีทองอร่าม ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกโดยยูเนสโก ภายในยังมีการจัดแสดง นิทรรศการ “King of Siam: Royal Visit to Peterhof” ความสัมพันธ์ไทย – รัสเซีย  ซึ่งจัดขึ้นเพื่อรำลึกถึงการเสด็จประพาสรัสเซียอย่างเป็นทางการของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เมื่อปี พ.ศ. 2440 จุดเริ่มต้นความสัมพันธ์ทางการทูตไทย – รัสเซีย โดยมีจักรพรรดินิโคลัสที่ 2 แห่งรัสเซีย กับในหลวงรัชกาลที่ 5 ร่วมในสัญญา และเป็นการร่วมฉลองครบรอบ 125 ปี แห่งการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตไทย – รัสเซีย

พิพิธภัณฑ์ Peter the Great Museum of Anthropology and Ethnography (the Kunstkamera)                                        

ก่อตั้งขึ้นโดยปีเตอร์มหาราช จัดแสดงสิ่งของสะสมที่หายากของพระเจ้าปีเตอร์มหาราช และสิ่งของที่ได้รับมาจากแขกผู้มาเยือน โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานสิ่งของให้แก่พระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 ได้แก่ พระแสงราชศาสตราวุธอย่างไทย พระแสงดาบอย่างลาว และพระแสงกริชมลายู โดยถูกจัดแสดงไว้ที่ห้อง Imperial Hall นอกจากนี้ยังมีของที่ได้มาจากกรุงศรีอยุธยา เช่น เครื่องดนตรีไทย ประเภทขิม เครื่องแต่งกายโขน และพระพุทธรูปของไทยด้วย

โครงการดังกล่าวริเริ่มโดย เอกอัครราชทูตศศิวัฒน์ ว่องสินสวัสดิ์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงมอสโก และสนับสนุนจากมูลนิธิยุวทูตความดี เพื่อเป็นโอกาสให้เยาวชนไทยได้เรียนรู้และเข้าใจความสัมพันธ์ทางการทูตไทย – รัสเซีย ที่ให้เยาวชนทำหน้าที่เป็นสะพานแห่งมิตรภาพเชื่อมโยงความสัมพันธ์อันดีระดับเยาวชนไทย – รัสเซีย ที่มีมายาวนานถึง 126 ปี พร้อมแลกเปลี่ยนและเผยแพร่วัฒนธรรมกับเยาวชนรัสเซีย และพัฒนาโลกทัศน์ของยุวทูตความดีให้กว้างไกล รอบรู้ รอบด้านมากยิ่งขึ้น ด้วยความสนับสนุนอย่างแข็งขันจากสถานเอกอัครราชทูต ทำให้การเยือนครั้งนี้บรรลุผลตามเป้าหมาย  

โครงการสอท. / สกญ. อุปถัมภ์

ค่ายอบรม รักษ์โลก รักแผ่นดิน ปี 2566

มูลนิธิยุวทูตความดี ดำเนินโครงการต้นกล้าความดี ก้าวสู่สากล ปี 2566 จัดค่ายอบรม รักษ์โลก – รักแผ่นดิน ระหว่างวันที่ 25 เมษายน – 2 พฤษภาคม 2566 ที่อุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธร จังหวัดเพชรบุรี โดยมีเยาวชนยุวทูตฯ เข้าร่วม 102 คน ครู 25 คน รวม 127 คน จาก 25 โรงเรียน ใน 25 จังหวัด จากทั่วทุกภาคของประเทศ  ในวันที่ 25 เมษายน 2566 ผอ.จันทร์ทิพา ภู่ตระกูล ผู้อำนวยการมูลนิธิยุวทูตความดี กล่าวเปิดค่ายอบรม การเรียนรู้แบบ 360 องศา ที่รอบรู้ รอบด้าน เรียนรู้จากสิ่งที่ตั้งแสดงให้รู้ และเรียนรู้จากการออกไปยังพื้นที่โครงการที่เราสามารถเห็นได้กับตา ถึงสิ่งที่อยู่ตรงหน้า แล้วต้องเสริมความแข็งแกร่ง ด้วยการเพิ่มพูนทักษะทางด้านภาษาและเสริมสร้างทักษะความสามารถที่มีอยู่ในตัวนักเรียนและครู เมื่อเรียนรู้แล้ว ก็ต้องต่อยอดด้วย การเผยแพร่สิ่งที่เรียนรู้ให้เป็นวงกว้าง นำผลดีจากสิ่งที่ได้พบเห็นไปบอกต่อกับเพื่อนที่ไม่มีโอกาสได้มาเข้าค่าย  […]

คณะยุวทูตความดี เยือนนิวซีแลนด์

สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเวลลิงตัน ร่วมกับ มูลนิธิยุวทูตความดี ดำเนินโครงการเสริมสร้างประสบการณ์เรียนรู้ และสานสัมพันธ์สร้างมิตรไมตรีของยุวทูตความดีในนิวซีแลนด์ ระหว่างวันที่ 4 – 15 ธันวาคม 2566 คณะฯ จำนวน 7 คน ประกอบด้วย นักเรียน 6 คน ครู 1 คน คณะยุวทูตฯ มาจาก 7 โรงเรียน ใน 7 จังหวัดทั่วทุกภาคของประเทศ ระดับชั้น ป.5 – ป.6 อายุเฉลี่ย 11 – 14 ปี ได้รับการคัดเลือกจากค่ายอบรม ต้นกล้าความดี ก้าวสู่สากล ซึ่งจัดขึ้นที่อุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธร จังหวัดเพชรบุรี เมื่อเดือนเมษายน 2566

รายนามคณะยุวทูตความดีเข้าร่วมโครงการพัฒนาโลกทัศน์เยือนนิวซีแลนด์ ระหว่างวันที่ 4 – 15 ธันวาคม 2566

มูลนิธิยุวทูตความดี ร่วมกับสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเวลลิงตัน ดำเนินโครงการฯ ภายใต้โครงการ สอท.อุปถัมภ์ ระหว่างวันที่ 4 – 15 ธันวาคม 2566 คณะประกอบด้วย นักเรียนยุวทูตฯ 6 คน ครู 1 คน รวมจำนวน 7 คน จาก 7 โรงเรียน ใน 7 จังหวัด ซึ่งได้รับคัดเลือกจาก โครงการค่ายอบรมต้นกล้าความดี ก้าวสู่สากล  รายนามคณะยุวทูตความดีเยือนนิวซีแลนด์ (สอท.อุปถัมภ์)

keyboard_arrow_up